12 พ.ย. 2554

จาก 'ครอบครัว' สู่ 'โรงเรียน'

-0-
พอ.นพ.พงษ์ศักดิ์ ตั้งคณา วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีชื่อเสียง คุณหมอได้เล่าเปรียบเทียบเกี่ยวกับ 2 ครอบครัวที่มีมุมคิดต่างกัน ไว้อย่างน่าฟังว่า
ครอบครัวที่ 1 ; พ่อ แม่ นั่งอยู่ที่โต๊ะอาหารรอลูกมากินข้าวพร้อมกัน ลูกกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้านส่งซองจากโรงเรียนให้แม่ 'เป็นประกาศผลสอบของโรงเรียน'
พออ่านผลสอบปรากฎว่าสอบได้ที่ 2 ทุกคนในบ้านเครียดหมดเลยครับ "ไอ้ ลูกไม่รักดี พ่อ แม่ อุส่าห์เอาใจทุกอย่างซื้อหนังสือให้ พาไปเรียนพิเศษ พาไปกวดวิชาที่ดังๆ ทำไมยังโง่ยังงี้ แค่สอบให้ได้ที่ 1 แค่นี้ทำไมทำไม่ได้" นั่งด่าลูก!! ข้าวปลาไม่ต้องกิน บรรยากาศในโต๊ะอาหารเครียดมาก..
ครอบครัวที่ 2 ; ข้างบ้านเป็นชั่วคราวของคนงานก่อสร้าง พอเปิดซองผลการสอบของลูก เฮกันลั่นบ้านเลยครับ ปรบมือดีใจหัวเราะกันสนั่นหวั่นไหว..
ครอบครัวที่ 1 สงสัยเดินเข้าไปถาม
"ลูกคุณสอบได้ที่ 1 หรือครับ ถึงได้ดีใจกันขนาดนี้?"
"เปล่าหรอกครับ"
"อ้าว! แล้วได้ที่เท่าไรล่ะ?"
"ได้ที่ 29 ครับ"
"สอบได้ที่ 29 ทำไมถึงต้องดีใจกันขนาดนี้ล่ะ!!"
"อ๋อ..ปกติมันสอบได้ที่ 30 ครับ.."
ความแตกต่างทางด้านความคิด นี่คือคนที่คิดเป็นกับคนที่คิดไม่เป็น
คนหนึ่งทั้งชั้นเขาแพ้แค่คนเดียว เครียดแทบตาย! ส่วนอีกคนทั้งชั้นเขาชนะแค่คนเดียว ดีใจกันทั้งบ้าน
ตอนท้ายเรื่องนี้ นพ.พงษ์ศักดิ์ ท่านยังได้เปรียบเปรยครอบครัวทั้ง 2 ว่า
ครอบครัวที่ 1 'คิดในแง่ลบ'
คิดเรื่องแพ้ แพ้คนเดียว แต่ชนะ 28 คน เครียด
ครอบครัวที่ 2 'คิดในแง่บวก'
คิดเรื่องชนะ ชนะแค่คนเดียว แต่แพ้ 28 คน มีความสุข

-1-
พ่อแม่ที่ชอบดุด่าประจานเด็กอยู่เป็นประจำ จะทำให้เด็กมองคุณค่าในตัวเองต่ำ เกลียดชังตัวเอง และรักใครไม่เป็น มองไม่เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ไม่อยากทำอะไรกับชีวิต และจะมีคำจำกัดความของชีวิตว่าเป็น ‘ผู้แพ้’
ในทางกลับกัน ถ้าพ่อแม่พูดจาชื่นชมยกย่องและให้กำลังใจเด็ก เด็กจะเติบโตด้วยความรู้สึกมั่นใจในตนเอง เชื่อมั่น มองโลกแง่ดี กล้าคิด กล้าพูด และมองคุณค่าในตัวเองสูง ข้อสำคัญคือ เขาจะรักตัวเองเพราะคำจำกัดความของชีวิตของเขาคือ ‘ผู้ชนะ’
จะเห็นได้ว่า การเลี้ยงดูของพ่อแม่ จะเป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้เด็กเล็กๆ ที่ไร้เดียงสาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ลักษณะใดก็ได้

-2-
ดร.เออ์วิน ไฮมาน ผู้เขียนหนังสือ 'Reading, Writing, and the Hickory Stick' กล่าวไว้ว่า วิธีการลงโทษทุกแบบทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงในระยะยาวต่อเด็ก งานวิจัยของเขาแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ประสบการณ์ความเกรี้ยวกราดเพียงครั้งเดียว สามารถทำให้เกิดอาการเครียดหลายอย่าง เด็กจะหมดความสนใจในงานที่โรงเรียน เลิกทำการบ้าน และเริ่มประพฤติตัสก้าวร้าว จนเขาอาจมีความรู้สึกกังวลใจหรือหดหู่หรือหมดความเชื่อใจผู้ใหญ่

-3-
นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล จิตแพทย์ เคยพูดเรื่องเกี่ยวกับครับครอบครัวหนึ่งไว้ว่า..
คุณ แม่นั่งรอลูกสาววัยรุ่นซึ่งไปงานเลี้ยงวันเกิดของเพื่อน ด้วยความหงุดหงิด กระวนกระวายใจ เป็นห่วงว่าลูกจะเป็นอันตรายจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ เดินวนเวียนมองดูประตูบ้านตลอดเวลา
พอเที่ยงคืนลูกเปิดประตูบ้านเข้ามา คุณแม่พอเจอหน้าลูกสาวที่กลับมาจากเที่ยวก็พูดด้วยอารมณ์ที่ฉุนเฉียวใส่ ทันทีว่า “นี่เอ็งรู้ไหม? ทำไมเพิ่งกลับเอามาป่านนี้! แล้วใครมาส่ง? นี่เพิ่งจะเที่ยงคืนเองรีบกลับมาทำไม? ทำไมไม่กลับมาตอนเช้าเลยล่ะ! ตกลงเอ็งจะเรียนหรือจะมีสามีกันแน่?”
คุณแม่รอลูกด้วยความรักและความห่วงใย ลูกไม่กลับบ้าน แม่เหมือนใจจะขาด
แต่คำพูดที่แม่พูดออกไป ไม่สามารถสื่อสารให้ลูกสาวรับรู้ได้เลยว่า ‘คุณแม่รักและห่วงใยลูกสาว?’
ซึ่งคำพูดที่แม่สื่อออกไปนั้น กลับทำให้ลูกสาวเข้าใจผิดตรงกันข้าม
ด้วย ความโมโห! ลูกสาวจึงตอบสวนไปว่า “เรียนไปมีสามีไป มีอะไรรึเปล่า! สนุกดีออก” พูดเสร็จก็ปิดประตูใส่หน้าแม่ดังปัง ทั้งสองคนแม่ลูกแทบไม่เหลือความสุขอยู่เลย ไม่ต้องนอนกันทั้งคู่ มีปัญหากันทั้งคืน เพราะทั้งสองไม่ได้สื่อสารให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบว่า ‘เรารัก เราปรารถนา และห่วงใย’
ลองเปลี่ยนวิธีการพูกสื่อสารกับลูกดูใหม่ครับ
สื่อสาร ให้ตรงกับที่ใจเราคิด ให้ตรงกับความรู้สึกที่มีต่อเขา ดูว่าผลจะแตกต่างกันอย่างไร? พอลูกสาวกลับมาถึงบ้าน ถ้าคุณแม่วิ่งเข้าไปกอด แล้วพูดว่า “กลับมาแล้วหรือลูก แม่ห่วงแทบแย่ หนาวไหม? รีบขึ้นไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วลงมาทานข้าวนะลูก แม่ทำอาหารโปรดไว้ให้ทาน เร็วๆ นะลูกนะ แม่รอ คราวหน้าถ้าลูกจะกลับดึกก็โทรบอกแม่ด้วยนะ แม่จะได้ไม่ห่วงและนอนหลับ”
พอคนฟังจะรู้สึกดีและรับรู้ถึงความรัก ความห่วงใยลูก
ลูกก็จะตอบว่า “กราบขอโทษคุณแม่ค่ะ ที่หนูทำให้แม่ไม่สบายใจ ต่อไปหนูจะไม่กลับดึกอีกแล้ว หนูรักแม่”
แล้วหอมแก้มกันฟอดใหญ่ ก่อนจะวิ่งไปอาบน้ำ

-4-
ถ้าพ่อแม่สอนเขาอย่างหนึ่ง แต่ทำตัวอีกอย่างหนึ่ง เด็กจะสับสน ไม่รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ และเมื่อเขาทำเลียนแบบบ้าง เช่น ถ้าเห็นพ่อแม่กินเหล้า สูบบุรี่ และหากเขาทดลองดูบ้างกลับจะได้รับการลงโทษที่รุนแรง เด็กจะไม่เข้าใจและงงในความไม่อยู่กับร่องกับรอยของการกระทำของพ่อแม่ คุณค่าในตัวเองของเขาก็จะได้รับผลกระทบ เพราะไม่รู้ว่าทำอะไรลงไปแล้วผลจะเป็นอย่างไร ความไม่แน่นอนทำให้ความรู้สึกที่มีต่อตัวเอง และคุณค่าของเขาออกมาเป็นติดลบด้วย

-5-
เป็นธรรมดาที่พ่อแม่ทุกคนอยากตั้งความหวังไว้กับลูก แต่ถ้าความคาดหวังนั้นไม่อยู่บนพื้นฐานที่เป็นจริง เด็กก็ทำไม่ได้ เมื่อเด็กทำไม่ได้ เด็กก็จะเป็นทุกข์ และเนื่องจากเด็กอยากให้พ่อแม่รักตน เด็กก็จะพยายามทำทุกอย่างที่จะเป็นไปตามความต้องการของพ่อแม่ เพื่อให้ตัวเองได้เป็นที่รักของพ่อแม่ แต่เมื่อพบว่าตนเองทำไม่ได้ ก็รู้สึกไม่ได้รับความรัก และหมดคุณค่าในตนเองลงไป
ครอบครัวของเพื่อนรักของผมคนหนึ่งเป็นครอบครัวที่มีพ่อแม่รับราชการระดับสูง ซึ่งพ่อกับแม่ตั้งความคาดหวังกับลูกคนโต(พี่ชายของเพื่อผม)ไว้อย่างเลิศลอย และเด็กชายก็พยายามจะทำทุกอย่างให้พ่อแม่ไม่ให้ผิดหวังในตัวเขา แต่ปรากฏว่า ในครั้งหนึ่งเพียงแค่เขาสอบได้เกรดเฉลี่ยอับดับที่ 2 ในระดับชั้น เด็กชายผู้ไม่เคยทำความผิดหวังให้ใครก็รับกับสภาพพ่ายแพ้นี้ไม่ได้(เขาแพ้ เพียง 1 คน แต่เขาชนะเพื่อนๆในระดับชั้นทั้ง 9 ห้อง อีกตั้ง 1,300 กว่าคน) และเมื่อเด็กชายกลับบ้านในวันทราบเกรดเฉลี่ยวันนั้น เขาก็ตัดสินใจเก็บตัวเงียบในห้องเรื่อยๆ มา
การตั้งความหวังสูงเลิศลอยให้แก่ลูก จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องระวังให้มาก เพราะถ้ามันไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงแล้ว คนที่ทุกข์ที่สุดก็คือตัวพ่อแม่นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น