24 ก.ย. 2553

การสอนลูกศิษย์ของโสเครติส...


ในอนาคตข้างหน้าที่ไม่มีมนุษย์คนใดรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับโลก และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็กำลังจะเกิดขึ้น สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนรุ่นต่อๆ ไปก็คือความรู้ ความเข้าใจในศาสตร์ต่างๆ ที่อยู่ร่วมกับคนอื่นโดยภราดรภาพ เกิดความรักกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง เกิดความรักกับสรรพสิ่งรอบๆ ตัว..
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตามกาลเวลา ฟิลิปปินส์เคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชียตะวันออก ซึ่งตรงกันข้ามกับฮ่องกงซึ่งเต็มไปด้วยสลัมและผู้ลี้ภัยยากไร้มากมาย ผู้ดีฟิลิปปินส์นิยมจ้างสาวใช้จากฮ่องกงไปทำงานบ้าน แต่ปัจจุบันคนฟิลิปปินส์กลับแห่ไปทำงานเป็นสาวใช้ในฮ่องกง ฮ่องกงกลับกลายเป็นประเทศที่มั่งคั่ง ส่วนฟิลิปปินส์กลับตกอับ ไม่รู้เศษฐกิจและการเมืองจะฟื้นตัวกลับมาได้เมื่อไร
โลกเราในวันข้างหน้าหาความแน่นอนอะไรไม่ได้ ภาพที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ แต่ก่อนไม่ได้เป็นอย่างนี้และอนาคตมันก็จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นอีก ศาสตร์ต่างๆ ที่นำมาสอนคนรุ่นต่อๆ ไปก็สำคัญอย่างยิ่ง กลยุทธ์หรือวิธีการสอนในความแตกต่าง ผมชอบแนวการสอนที่แปลกๆ และแตกต่างของโสเครติส เพราะเป็นรูปแบบการสอนโดยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของศิษย์และมองรูปแบบทัศนคติการตอบคำถามของศิษย์เพียงเท่านั้น..
โสเครติสเขาเป็นนักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาเอกของโลก เขาสอนลูกศิษย์ด้วยการสนทนา เขาจะตั้งคำถามให้ลูกศิษย์ตอบ สร้างองค์ความรู้จากคำถาม กลยุทธ์ของโสเครติสในการสอนคือ ไม่ให้ความเห็นใดๆ แก่นักเรียนและทำลายความมั่นใจของนักเรียนที่เชื่อว่าตนเองรู้ โสเครติสเชื่อว่าเมื่อเด็กตระหนักในความไม่รู้ของตนเอง เขาจะเริ่มแสวงหาความรู้ แต้ถ้าเด็กยังเชื่อมั่นในความรู้ตนเอง เขาก็จะไม่แสวงหาความรู้..

ถ้าเปรียบตัวของผู้เรียนกับแก้วน้ำที่เต็มแก้ว 1 ใบ โสเครติสเขาก็จะใช้วิธีการเทน้ำออกจากแก้ว เมื่อแก้วไม่มีน้ำแล้วจึงเริ่มให้เขาเทน้ำใหม่ใส่แก้วด้วยมือของโสเครติสเอง น้ำที่ลูกศิษย์แต่ละคนเทลงแก้วด้วยมือตัวเอง มาจากคำตอบที่เขาค้นคิดขึ้นมาเอง ก็คือโสเครติสเขาจะดูวิธีคิดในการตอบคำถามของลูกศิษย์แต่ละคนจากคำถามของโสเครติสเอง...

13 ก.ย. 2553

วิชา การคิด...


     ทำไมที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
จึงได้สอนวิชาการคิดด้วย ทั้งที่โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่มีสอน ”
ทุกคนล้วนอยู่กับการคิดทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เราหลับใหลหรือเราตื่น การคิดจึงเป็นสิ่งเริ่มต้นสอนให้เรารู้จักการแสวงหาสิ่งที่อยากเรียนรู้

มีหลายครั้งที่มีคนมาบอกผมว่าหลายศาสตร์ที่เรียนมาในวิชาคณิตศาสตร์ไม่เห็นจะได้ใช้ในชีวิตประจำวันเลย? อาทิ เรขาคณิต พีชคณิต ตรีโกณมิติ แคลคูลัส เป็นต้น เรื่องต่างๆ เหล่านี้ในสมัยเรียนอาจารย์ท่านเขี้ยวเข็ญให้เราเรียน ไม่เข้าใจก็ให้เราทำซ้ำๆ ซ้ำอีกหลายๆ ครั้งจนตาแทบลาย สรุปแล้วเมื่อออกมาเผชิญในโลกแห่งความเป็นจริงกลับไม่ได้ใช้ความรู้ที่ยากๆ เหล่านี้เท่าที่ควรเลย

ช่วงที่ผมเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีอาจารย์ท่านหนึ่งเคยบอกผมไว้ว่า เราได้นำศาสตร์ที่ยากๆ ของวิชาคณิตศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวันของหลายๆ คนเพียง 3% เท่านั้นเอง! แล้วที่เหลืออีก 97% ล่ะ เราจะได้นำมาใช้ตอนไหน??

หลายครั้งที่มีผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ใจดีที่มาศึกษาดูงานถามผมว่า ทำไมที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ถึงได้สอนวิชาการคิดให้นักเรียน ทั้งๆ ที่หลายๆ โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่มีวิชานี้เลย?
ผมตอบว่า..
วิชาการคิดเป็นส่วนหนึ่งของวิชาคณิตศาสตร์ทุกระดับชั้นประถมศึกษาจะได้เรียนการคิดกับคุณครูชาญ(นายชาญณรงค์ วิเศษสัตย์) ซึ่งวิชาการคิดมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเรียนรู้ของนักเรียน โจทย์คำถาม เนื้อหาในการสอนครูชาญก็จะใช้เนื้อหาที่แตกต่างกันในแต่ละระดับชั้น ผมเชื่อว่านักเรียนที่ได้เรียนรู้วิชาการคิดจะมีผลทำให้เขาเรียนรู้วิชาอื่นดีไปด้วย..
มีนักเรียนคนหนึ่งไม่ชอบเรียนวิชาอะไรเลย มีวันหนึ่งเขายกมือตอบคำถามคุณครูได้ก่อนใครและคำตอบนั้นถูกต้อง นักเรียนคนดังกล่าวที่ไม่เก่งวิชาอื่นอาจรู้สึกทันทีว่าตัวเองคิดเก่ง ผลของการตอบคำถามถูกในครั้งนั้นจะช่วยให้นักเรียนภูมิใจในตัวเองมากขึ้น ทำให้กล้าคิดที่จะเรียนรู้อย่างอื่นไปด้วย..
มีงานวิจัยเขียนไว้ว่าการที่ครูผู้สอนสอดแทรกวิชาการคิดให้กับผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ได้ในระดับสูงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วยและมีงานวิจัยของอาจารย์ท่านหนึ่งชาวออสเตรเลียชื่อจอห์น เอ็ดเวิร์ด ได้ทดลองเพิ่มวิชาการคิดสอดแทรกเข้าไปในชั่วโมงเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ โดยที่เอ็ดเวิร์ดเปรียบเทียบนักเรียนกลุ่มเดียวกัน ใช้วิธีการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เต็มเวลาให้กับผู้เรียนเช่นครั้งที่ผ่านๆ มา ปรากฏว่าผลการสอบวิชาวิทยาศาสตร์ของผู้เรียนครั้งที่สอนวิชาการคิดสอดแทรกในชั่วโมงสอนวิทยาศาสตร์ด้วยกับทำคะแนนได้ดีกว่าการเรียนที่สอนวิทยาศาสตร์เต็มเวลา..

การสอนวิชาการคิดของครูชาญจะมีวิธีการสอนที่แตกต่างจากครูคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ผมเคยเห็นมามากเลยทีเดียวครับ การสอนโดยใช้น้ำเสียงที่ไพเราะ การสอนโดยสอนผ่านเพลงคลื่นสมองต่ำ การสอนโดยไม่เปรียบเทียบตัวผู้เรียน การสอนโดยใช้คนชมให้กับผู้เรียน  การใช้เหตุผลในคำถามทุกคำถาม เป็นต้น ผมชอบแนวการสอนนี้มาก แต่ตัวผมเองต้องใช้ประสบการณ์ในการเรียนรู้และเข้าใจให้ลึกถึงวิธีการสอนรูปแบบดังกล่าวอีกสักระยะ..

ผมเชื่อว่าถ้าคุณครูสอนการคิดสอดแทรกเข้าไปในทุกรายวิชา บางคาบอาจจะเป็นเกมผ่อนคล้ายให้นักเรียนเล่นในคาบการสอนวิชาไหนก็ได้หรือเป็นการทดลองโดยการปฎิบัติจริง จะทำให้ผู้เรียนได้รับการผ่อนคลาย จะทำให้เขากระหายที่จะเรียนรู้ เมื่อเขาเปิดพร้อมที่จะเรียนรู้แล้วคุณครูก็จะสอนอะไรให้กับผู้เรียนนักเรียนก็จะตื่นเต้นกระหายที่จะเรียน

ประเด็ญที่สำคัญยิ่งในการสอนวิชาการคิด ครูใหญ่(วิเชียร ไชยบัง) เคยบอกไว้ว่า การที่นักเรียนตั้งคำถามสอบถามคุณครู ครูอย่าพึ่งบอกคำตอบให้กับเขา ครูควรใช้คำถามย้อนกลับในคำถามนั้นกับเขา ให้เขาได้ใคร่ครวญในคำตอบ สอนให้เขาคิดแสวงหาคำตอบด้วยตัวเอง ถ้าเกิดครูบอกคำตอบให้กับเขาเลยก็จะทำให้เขาเกิดความเคยชิน สุดท้ายแล้วเขาจะไม่คิดที่จะแสวงหาคำตอบเอง เพราะเขาจะคิดว่าอยากรู้อะไรเขาจะมารับคำตอบจากครูทุกครั้งไป...

5 ก.ย. 2553

การเปลี่ยนจาก "เกลียด" มาเป็น "หลงรัก" ในวิชานั้นๆ...


“กลางห้วงน้ำ ยังมีความเร้าร้อน
กลางเปลวเพลิง ยังมีความเยือกเย็น
สิ่งที่ไม่มีกลับเห็น สิ่งที่ไม่เห็นกลับมี”


สมัยผมเรียนระดับมัธยมปลายที่จังหวัดนครพนม ที่โรงเรียนได้แบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ มีทั้งหมด 8 ห้องเรียนในแต่ละระดับชั้น ได้แก่ 1.เด็กนักเรียนสายวิทย์-คณิตฯ 2.เด็กนักเรียนสายศิลป์ และ 3.เด็กนักเรียนอาชีวะ  เด็กนักเรียนทั้ง 3 กลุ่มอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันแน่แท้ก็คือ เด็กที่เรียนสายวิทย์ก็อาจจะไม่ชอบเรียนวิชาศิลปะหรือวิชาทางด้านภาษาต่างๆ ส่วนเด็กนักเรียนที่เรียนสายศิลป์หรืออาชีวะก็อาจจะไม่ชอบเรียนวิชาทางด้านคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์..  
     ผมเริ่มชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ตั้งแต่สมัยเรียนระดับมัธยมและก็ชอบเล่นกีฬาเซปัก-ตะกร้อมากๆ ปี พ.ศ.2542 ผมได้เป็นตัวแทนเขตของตะกร้อระดับมัธยมศึกษา จ.นครพนม ผมเห็นเรื่องราวต่างๆ ที่อาจารย์หลายๆ ท่านได้ถ่ายทอดให้ตลอดมา ผมมี 2 กรณี ของคุณครู 2 ท่าน มายกเป็นกรณีตัวอย่าง ในการส่งเสริมให้ผู้เรียนอยากเรียนกับครู..
คนแรกเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิชาที่ "เด็กสายศิลป์" ทั้งหลายเกลียดชังที่สุด
พอเข้าห้องมาครูก็ถามว่า "ใครไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์บ้าง" ทั้งห้องครับ! ครูหัวเราะด้วยความเคยชิน
"ครูมีหน้าที่ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ส่วนเธอมีหน้าที่ทำความเข้าใจกับเรื่องง่ายๆ ที่ครูสอน"
จากนั้นก็เริ่มการเปรียบเทียบข้อต่างระหว่างเด็กที่เรียนสายวิทย์กับเด็กที่เรียนสายศิลป์
"อย่าไปสนใจพวกเด็กๆ ที่เขาเรียนสายวิทย์เลยนะ เขาอาจทำข้อสอบเสร็จทั้งที่เธอยังไม่เขียนอะไรเลย ครูไม่ต้องการให้เธอเก่งขนาดนั้น แต่ต้องการให้สามารถคุยกับพวกเขาพอรู้เรื่องบ้าง แต่ถ้าเขาคุยอะไรลึกมากๆ เราก็เดินหนีอย่าไปคุยด้วย" นี่คือจิตวิทยาที่แสดงให้เห็นว่าครูอยู่พวกเดียวกับนักเรียน แค่นี้วิชาคณิตศาสตร์ก็น่าเรียนขึ้นแล้วสำหรับเด็กสายศิลป์ เพราะแสดงว่าครูเข้าใจพื้นฐานของนักเรียนดี..


ส่วนอีกกรณีนะครับเป็นครูสอนวิชาพลศึกษาชื่อ ครูอภิชาติ สอนเซปัก-ตะกร้อ วันแรกของการเรียนครูอภิชาติถามนักเรียนแบบเดียวกับครูสอนคณิตศาสตร์ "ใครไม่ชอบเล่นตะกร้อบ้าง" ทั้งห้องครับ! แทนที่ครูอภิชาติจะโกรธเขากลับหัวเราะ "ครูไม่มีหน้าที่ถามว่าทำไมเธอถึงไม่ชอบเล่นตะกร้อ แต่ครูมีหน้าที่ทำให้เธอชอบตะกร้อ และเล่นตะกร้ออย่างมีความสุข" แค่นี้เด็กก็เทใจไปครึ่งหนึ่งแล้ว ครูอภิชาตเริ่มบอกถึงเป้าหมายของการสอนว่าเขาไม่สนใจว่าเด็กจะเล่นตะกร้อด้วยวิธีการไหน เดาะตะกร้อได้กี่ลูก ไม่สนใจว่าใครจะเล่นผิดกติกากี่ครั้ง แต่เขาต้องการให้ทุกคนเล่นตะกร้อด้วยความสนุก
"นักตะกร้อทีมระดับเขตเขายังขึ้นตบลูกตะกร้อติดตาข่าย บางคนยังเสริฟไม่ข้ามตาข่ายด้วยซ้ำ นักกีฬาที่เข้าแข่งขันรายการต่างๆ ยังเล่นผิดกติกากันเยอะแยะ เราไม่ได้เล่นเพื่อติดทีมชาติเพื่อไปแข่งขันตะกร้อระดับโลก ขอเพียงสนุกเท่านั้นก็เป็นพอ" แค่ฟังเด็กๆ ที่เคยเกลียดการเล่นตะกร้อก็ชักอยากเล่นตะกร้อกับครูผู้สอนคนนี้กันแล้ว
"วันแรกที่เล่น เธออาจจะเล่นลูกตะกร้อ แล้วบางครั้งอาจจะเจ็บตัวบ้างกับการเล่น ทุกคนที่เรียนรู้อะไรกับเรื่องราวใหม่ๆ จะรู้สึกทำอะไรก็ไม่ค่อยถูก ต้องได้รับการฝึกฝนทักษะเรื่อยๆ แต่ถ้าเรียนจบแล้ว พวกเธอสามารถเล่นตะกร้อได้ดีกว่าเดิม มีทักษะการเล่นเพิ่มมากขึ้น ก็แสดงว่าเธอเล่นดีขึ้น มีพัฒนาการขึ้น"
ยังไม่ทันเล่นตะกร้อเลย นักเรียนเกือบทั้งห้องเปลี่ยนจากเกลียดมาเป็นหลงรักกีฬาชนิดนี้แล้ว เพราะพลศึกษากลายเป็นวิชาที่สนุกขึ้นมาทันที ทั้งที่รูปแบบของเกมยังเหมือนเดิม..

เพียงแต่ทัศนคติของครูเน้นให้เด็กรู้สึกสนุกที่จะเรียน จุดเริ่มต้นที่ความสนุกจะทำให้เด็กกระหายที่จะเล่นและเรียนรู้ เมื่อเด็กพร้อมที่จะเรียนรู้แล้วสิ่งที่จะตามมาสำหรับการเล่นและเรียนรู้ของเด็กนักเรียนก็คือ "ความเข้าใจ"