20 ก.ค. 2553

เรียนคณิตฯ ถ้ายังไม่เข้าใจอย่าปล่อยเลยตามเลย ...


ทุกครั้งในชั่วโมงสอนคณิตศาสตร์ผมมักจะย่ำเสมอกับนักเรียนว่า “มีพี่ๆ คนไหนสงสัยในเรื่องที่เรากำลังเรียนอยู่ไหมครับ? ถ้ามีข้อสงสัยจะถามครูให้ยกมือนะครับ” ทุกครั้งผมจะเตือนนักเรียนเสมอว่า “ถ้านักเรียนยังสงสัยในเรื่องที่ครูสอนอยู่ อย่าปล่อยให้เลยตามเลยนะครับ เพราะทุกเรื่องในคณิตศาสตร์มักจะสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทุกเรื่อง” หากยังสงสัยให้รีบสอบถามคุณครูและถามจนกว่าจะเข้าใจจึงให้ผ่าน..

ถ้าไม่ถามในสิ่งที่สงสัยแล้วปล่อยให้ผ่านเลย นักเรียนคนนั้นอาจจะกลายเป็นนักเรียนที่สะสมความไม่เข้าใจในเรื่องที่เรียนมา จะสะสมไปทีละน้อย ทีละน้อย จนกลายเป็นดินพอกหางหมู อาจจะทำให้นักเรียนคนนั้นอึดอัดในการเรียนคณิตศาสตร์ในทุกครั้งต่อจากนั้นและไม่สนใจที่จะเรียน จนเรียนไม่รู้เรื่อง..
สมมติว่า..มีนักเรียนคนหนึ่งชื่อว่า เด็กชายโบ้ เกิดข้อสงสัยในเรื่องการหารยาวอยากถามครูว่า“การหารยาวทำไมต้องหารจากข้างหน้ามาข้างหลังด้วยครับ?” และถ้าสมมติว่าเด็กชายโบ้ไม่ถามคุณครูในชั่วโมงเรียนวันนั้นแล้วปล่อยให้เลยผ่านไป โดยที่เด็กชายโบ้คิดว่า “ช่างมันเถอะ! เพื่อนๆ คนอื่นๆ เขาก็หารกันอย่างนี้ เดี๋ยวคุณครูหาว่าเราโง่อีก!!” ในอนาคตต่อไปถ้าเด็กชายโบ้เจอกับการหารที่ยาวเหยียดและยากขึ้นทุกทีๆ แต่เด็กชายโบ้ไม่เข้าใจหลักการพร้อมเหตุผลที่ใช้ในการอธิบายข้อสงสัยนี้ เด็กชายโบ้ก็จะทำๆ ไปให้ได้มาซึ่งคำตอบ แต่ไม่เข้าใจในการอธิบายว่าทำไมจึงหารเช่นนี้..
เมื่อนักเรียนสงสัยหรือมีคำถามที่อยากถามครูในห้องเรียน นักเรียนควรกล้าที่จะซักถามคุณครูจนกว่าจะเข้าใจและหมดคำถามในเรื่องนั้นๆ นักเรียนไม่ควรอายจนทำให้ไม่กล้าที่จะถามหรือว่าแกล้งทำเหมือนรู้เพื่อเอาใจครูผู้สอน แล้วปล่อยให้ความสงสัยนั้นผ่านไปเลยตามเลย...

14 ก.ค. 2553

แม่สูตรคูณ ...


เคยมีผู้ปกครองนักเรียนหรือคุณครูบางท่านถามผมบ่อยครั้งเกี่ยวกับการให้เด็กนักเรียนฝึกท่องจำแม่สูตรคูณให้ได้ หลายครั้งผมก็เคยอธิบายในแนวทางการสอนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนฯ แห่งนี้แนวทางกลุ่มสาระคณิตศาสตร์เราไม่อยากสอนให้เด็กนักเรียนเราเรียนแบบท่องจำ เรามีเป้าหมายมุ้งเน้นการสอนเพื่อความเข้าใจมากกว่า..
      นักเรียนบางบางคนท่องแม่สูตรคูณได้คล่องแคล่วทุกแม่ ท่องได้จากแม่ 2 ถึง แม่ 25 อย่างแม่นยำทุกครั้งที่ผมถาม แต่บางครั้งผมถามการคูณแบบยังไม่ได้ตั้งตัว เช่น  12X 13 มีค่าเท่าไรครับ? นักเรียนคนนั้นอาจจะต้องเริ่มจาก..
12X 1 = 12
12X 2 = 24
.
.
.
12X13 = 156
กว่าจะถึงที่มาของคำตอบ ต้องได้เริ่มนับ 1 ใหม่อีกครั้ง แต่ถ้าเป็นกรณีที่นักเรียนเข้าใจแล้ว นักเรียนอาจจะเชื่อมโยงกันความรู้พื้นฐานที่เตรียมมา รู้ค่าตำแหน่งของแต่ละจำนวนจากสื่อจริงที่เคยปฏิบัติมา เช่น จิ๋ว แท่งสิบ แผ่นร้อย เป็นต้น เมื่อนักเรียนเห็นภาพของจำนวน+สื่อ ในสมอง(Visualizations) นักเรียนจะเข้าใจและสามารถอธิบายที่มาของคำตอบได้ อาจจะโดยไม่ต้องท่องแม่สูตรคูณเลย..
     มีนักคณิตศาสตร์ระดับโลก เอิร์นส คุมเมอร์(Ernst Kummer) เขาเป็นนักพีชคณิตชาวเยอรมันผู้มีผลงานเป็นที่รู้จักในการพิสูจน์ทฤษฎีบทสุดท้ายของแฟร์มาต์ก่อนช่วงยุคใหม่ เขาไม่เก่งวิชาคณิตศาสตร์ด้านการคำนวณเลยและเขามักจะขอให้นักเรียนศึกษาช่วยคิดเลขให้เสมอเกือบทุกครั้ง..
 มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาต้องหาค่า 9 X 7 ว่ามีค่าเท่าไร??
“อืม..เก้าคูณเจ็ดเป็น...เก้าคูณ..เจ็ด..เป็น...” ศ.คุมเมอร์ครุ่นคิดปัญหานี้
“61 ครับ” นักศึกษาคนหนึ่งแนะให้และศ.คุมเมอร์ก็เขียนลงบนกระดานดำ
“ไม่ครับ ศาสตราจารย์!! มันต้องเป็น 67 ครับ” นักศึกษาอีกคนเอ่ยขึ้น
“ใจเย็นๆ หนุ่มๆ มันเป็นทั้งสองอย่างไม่ได้หรอก มันต้องเป็นคำตอบใดคำตอบหนึ่งนี่แหละ” ศ.คุมเมอร์กล่าว..
การที่นักเรียนท่องสูตรคูณได้อาจจะไม่เป็นเรื่องสำคัญเท่ากับความเข้าใจที่แท้จริง ศ.คุมเมอร์ เป็นอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่มีความเกี่ยวข้องกับแม่สูตรคูณมากที่สุดในโลก แต่เขาไม่เข้าใจเลยว่าค่าในชุดสูตรคูณนั้นคืออะไร?? ศ.คุมเมอร์ก็ยังคงเป็นนักคณิตศาสตร์บุคคลสำคัญของโลกได้..
เราอาจจะยึดติดกับการสอนในรูปแบบเดิมๆ ตามแนวหลักสูตรเดิมๆ หลักสูตรที่สร้างคนเช่นเดิมๆ มาทุกปี ซึ่งใน 10 กว่าปีหลักสูตรจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นทีหนึ่ง ในแต่ละครั้งที่เปลี่ยนแปลงก็ยังคงสร้างรูปแบบเดิมๆ มาใช้อีกเช่นเดิม..
ในอนาคตที่เราที่ผู้คนไม่มีทางจะจินตนาการออก เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วบนโลกด้วยอัตราเร่ง และจะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าเราสร้างคนที่ยึดติดกรอบเดิมๆ ผู้ที่ชนะคือคนที่เรียนรู้เก่ง แต่ไม่นำพาความรู้ไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มวลมนุษยชาติเราเท่าที่ควรแก่ความรู้ ถ้าคนเก่งคนนั้นใช้ความรู้ในแนวทางที่ผิดกรอบและใช้ความเก่งในทางที่ผิดก็ยิ่งน่าละอายกว่าคนที่มีความรู้น้อยแต่เข้าสร้างคุณค่ามากมายทิ้งเอาไว้แก่โลกด้วยความสุจริตใจ...

12 ก.ค. 2553

นาฬิกาทรายชีวิต


การเรียนรู้ของนักเรียนและครูผู้สอนต่างคนต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นักเรียนมาถึงโรงเรียนทุกวันก็เห็นการกระทำของครูว่าคุณครูแต่ละคนปฏิบัติตนเช่นไร ที่พร้อมจะให้นักเรียนเรียนรู้  และครูมาถึงโรงเรียนพอพบเจอนักเรียนแต่ล่ะคนก็พร้อมจะเรียนรู้พฤติกรรมของนักเรียน ซึ่งต่างคนมาต่างครอบครัว แตกต่างการเรียนรู้..
เด็กนักเรียนบางคนมาจากบ้านที่ฐานะร่ำรวยครอบครัวสอนว่า.. เงินทองเป็นของนอกกาย ถ้ามีเงินมาให้รีบใช้เท่าที่เราอยากได้นะลูก” ท่านคงเดาออกนะครับว่า นักเรียนคนนั้นจะเห็นคุณค่าของเงินเป็นเช่นไร แต่เด็กนักเรียนบางคนมาจากครอบครัวฐานะค่อนข้างยากจนครอบครัวสอนว่า.. “เงินทองกว่าเราจะหามาได้มันชังยากเย็นแสนเข็ญ เราต้องรู้จักอดออม  ควรใช้เงินในคร่าที่จำเป็นเท่านั้นนะลูก” นักเรียนคนดังกล่าวจะเรียนรู้คุณค่าของเงิน เห็นคุณค่าของเงินทุกบาทเมื่อนำออกไปใช้จ่าย..
 การเรียนรู้ของเด็กกับผู้ใหญ่ในช่วงระยะเวลาอันแสนสั้นของมนุษย์เรานี้เอง ชีวิตเด็กน้อยกับชีวิตผู้ใหญ่ก็เปรียบดังเช่น นาฬิกาทราย ..
หากเราเปรียบช่วงชีวิตหนึ่งคือ เม็ดทรายในนาฬิกาทราย ทรายด้านบนเป็นของคุณพ่อ คุณแม่ และคุณครู ทรายด้านล่างเป็นทรายของลูกๆ นักเรียน ขณะที่อายุเราเพิ่มขึ้น เม็ดทรายด้านล่างก็เพิ่มขึ้นตาม แต่ถ้าเม็ดทรายด้านบนกลับลดน้อยลงเรื่อยๆ อายุเราจะเพิ่มขึ้น แต่คุณแม่ คุณพ่อ และคุณครู กลับมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ...

8 ก.ค. 2553

การสอนคณิตศาสตร์โดยไม่มุ่งเน้นการคำนวณ ...


การเรียนการสอนที่ให้นักเรียนคิดโดยผ่านกระบวนการทางคณิตศาสตร์โดยไม่มุ่งเน้นการคำนวณ หลายครั้งผมจะให้โจทย์เด็กนำไปคิดต่อในคาบนั้นๆ บางครั้งให้เป็นการบ้านกลับไปทำที่บ้านมาส่ง นักเรียนบางคนมีวิธีคิดที่แตกต่าง  นักเรียนบางคนครุ่นคิดโจทย์ปัญหาที่ผมให้ไปนานกว่าสัปดาห์จึงนำคำตอบในข้อนั้นกลับมาตอบผม และทุกครั้งวิธีการทำโจทย์ที่นักเรียนแสดงที่มาจากความเข้าใจของนักเรียนแต่ละคน ผมจะไม่เคยบอกว่าวิธีการดังกล่าวผิด(ถ้าคำตอบนั้นยังไม่ถูกเท่าที่ควร) แต่ผมก็เพียงบอกกลับไปว่า..น่าจะยังมีวิธีการทำโจทย์ข้อนี้ได้อีกนะครับ ลองดูใหม่อีกครั้งนะครับ..
ต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างของการคิด โดยไม่มุ่งเน้นวิธีการคำนาณ..
 ในกรณีนี้จะเห็นว่า..
ขั้นที่หนึ่ง.. U มีค่ามากกว่า E ทั้งนี้เนื่องจาก E ต้องขอยืม P มา 1 เหตุผลที่บ่งชี้ว่า E ขอยืม P มา 1 ก็คือ P-O = I ทั้งที่ P-O ควรจะเท่ากับ P เพราะก็ตามที่ลบออกด้วยศูนย์ย่อมมีค่าคงเดิม ดังนี้ P-1 จึงจะเท่ากับ I
ขั้นที่สอง.. P มีค่ามากกว่า 2 เพราะถ้า P เป็น 2 เมื่อถูกขอยืมไป 1 จะเหลือ 1 ค่าของ I ก็จะเป็น 1 ด้วย แต่ในเมื่อ 1 คือ H ดังนั้น I จึงไม่ใช่ 1 และ P ก็ต้องมีค่ามากกว่า 2
ขั้นที่สาม.. แสดงว่า.. 10-Y = W
      เนื่องจากมีค่า 1 และ 0 ตามกำหนดแล้วค่าอื่นๆ ก็เป็นไปตามกติกาและไม่ซ้ำกัน คำตอบที่ได้มิได้มีค่าเดียว อาจเป็นจำนวนอื่นก็ได้เพียงแต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของข้อตกลงครับ..

5 ก.ค. 2553

ทำไมเด็กนักเรียนจึงมีปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ...


      มีเหตุการณ์หนึ่งในชั่วโมงสอนเสริมวิชาคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ประจำปีการศึกษา 2553 โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ 
วันนั้นผมสอนนักเรียน 3 คน มีรายชื่อดังนี้ครับ..
1. ด.ช.กิตติภูมิ  ขุนวงศ์(พี่ฟิล์ม)
2. ด.ช.ประภาส  กุลวงษ์(พี่ศักดิ์)
3. ด.ช.กฤษณพล  เซียรจันทึก(พี่กาย)
ผมถามนักเรียนว่า..
“มีลูกกวาดอยู่ 12 ลูก แบ่งลูกกวาดทั้งหมดให้ พี่ฟิล์ม พี่ศักดิ์ และพี่กาย คนละเท่าๆกัน แล้วอยากทราบว่าพี่ศักดิ์จะได้ลูกกวาดกี่ลูกครับ..”
 ผู้เรียนทั้ง 3 คน ต่างคิดวิธีการแบ่งจำนวนลูกวาด โดยพี่กายขออาสาแบ่งลูกกวาดโดยเริ่มแบ่งให้เพื่อนทีละ 1 ลูก พี่กายเป็นคนนำลูกกวาดทั้ง 12 ลูก มาเวียนการแบ่งให้ทั้งสิ้นได้ 4 รอบ พอดีและนักเรียนแต่ละคนได้ลูกกวาด 4 ลูกเท่าๆ กัน ผมจึงถามนักเรียนว่า “ใครที่มีวิธีคิดแตกต่างครับ”  พี่ฟิล์มยกมือและขออาสาอธิบายวิธีคิดให้ฟัง โดยพี่ฟิล์มบอกว่า “ผมใช้วิธีการหารครับ 12 / 3 ได้ 4 ครับ”  และผมจึงถามวิธีคิดพี่ศักดิ์ว่า "พี่ศักดิ์มีวิธีคิดที่แตกต่างจากเพื่อนๆ อย่างไรครับ" พี่ศักดิ์ใช้การวาดภาพลูกกวาดทั้ง 12 ลูก แล้วใช้ดินสอวงกลมจัดกลุ่มลูกกวาดได้ 3 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ลูก เท่าๆ กัน นี้เป็นเพียงบางส่วนในการสอนเสริม ทำให้ผมมองเห็นความสำคัญในการเตรียมความพร้อมในวิชาคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนที่อยู่ในระดับชั้นที่ต่ำกว่านี้..
ปัญหาคณิตศาสตร์ดังกล่าวนั้นนะครับ ถ้าเป็นการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 การแก้ปัญหาก็จะใช้ของจริงหรือวาดภาพเป็นแผนภูมิแสดงการแบ่ง สำหรับระดับประถมศึกษาปีที่ 2 การแก้ปัญหาจะเป็นการเขียนประโยคสัญลักษณ์ 12 / 3 = 4 แต่ถ้าเป็นเด็กอายุมากขึ้น เด็กนักเรียนก็อาจจะสามารถที่จะตอบคำถามได้โดยเกือบจะเรียกได้ว่าทันทีทันใดเลยทีเดียวครับ เมื่อถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หรือระดับชั้นที่สูงขึ้น แทนที่ครูจะให้แบ่งลูกกวาดจำนวน 12 ลูก ก็อาจจะเปลี่ยนตัวเลข เป็น 23 หรือ 69 แทน ในอีกระดับชั้นนะครับ..
     สาเหตุของการจัดการเรียนการสอนเช่นนี้ก็เพราะว่า เด็กๆนักเรียนจะได้ใช้วิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างไปตามระดับของการพัฒนา..
ขั้นแรก..นักเรียนจะได้เรียนรู้แนวคิดผ่านการปฏิบัติจริงจากการได้ลงมือทำ ต่อมาครูสามารถใช้รูปภาพแทนของจริงได้และในที่สุดนักเรียนเกิดการมองเห็นภาพในสมอง(Visualizations) ในเรื่องของสัญลักษณ์..
เด็กนักเรียนจะต้องมีเวลามากพอที่จะได้เรียนรู้ความหมายของแนวคิดหรือมโนมิติของเรื่องต่างๆ อาทิเช่น เรื่องการหาร ครูผู้สอนจงอย่าได้ลัดขั้นตอนและสอนนักเรียนให้เรียนรู้เพียงจากสัญญาลักษณ์ทางคณิตศาสตร์เท่านั้นนะครับ ในการช่วยเด็กนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องของคณิตศาสตร์ ครูผู้สอนจงยึดมั่นกับหลักการพื้นฐานเสมอ อย่าสอนพียงแต่ขั้นตอนในการคำนวณหาคำตอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ...
ปล. การสอนเสริมนักเรียนที่เรียนรู้ช้า “เราสอนเสริมให้กับเขาเพื่อให้เขารู้สึกว่าตัวเขาเองยังมีคุณค่า ยังมีครูยังค่อยเอาใจใส่ ไม่ทอดทิ้งเขา” ครูใหญ่เคยบอกผม...

2 ก.ค. 2553

ทำอย่างไรครูจึงจะเป็นคุณครูในดวงใจของลูกศิษย์ ...



“ครูผู้สอนเป็นตัวแปรสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้
นักเรียนชอบหรือไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์”


ครูผู้สอนทุกท่าน ทุกรายวิชาต้องมาช่วยกันคิดครับ ว่าทำอย่างไรครูจึงจะเป็นคุณครูในดวงใจของลูกศิษย์ ทำอย่างไรที่ลูกศิษย์อยากเรียนด้วย ถึงเวลาครูจะมาสอนให้เด็กเห็นความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างครูกับลูกศิษย์..

ผมได้รวบรวมพฤติกรรม 5 อันดับแรก ที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนจำนวน 12,062 คน ที่สุ่มตัวอย่างจากทั่วประเทศเนื่องในวันครูแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2549 โดยสวนดุสิตโพล มีดังนี้ครับ..

จะเห็นว่าสิ่งที่เด็กนักเรียนต้องการตรงตามกันทั้ง 3 ระดับครับ ก็คือ ค.คุณครูใจดี ซึ่งตรงกับความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ตามทฤษฎีของมาสโลว์ครับ ที่กล่าวว่า มนุษย์ต้องการความปลอดภัยเป็นอันดับสองรองจากความต้องการทางร่างกาย

ครูใจดีไม่ดุจะทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกว่าห้องเรียนปลอดภัยและไม่เครียด..       

การสอนสนุกและเข้าใจง่าย ตลอดจนการดูแลเอาใจใส่ เป็นสิ่งที่เด็กต้องการอย่างมากครับในการเรียนรู้คณิตศาสตร์.. 

การเรียนไม่รู้เรื่องนับว่าเป็นความทุกข์อย่างยิ่งจะส่งผลให้ง่วงนอน เบื่อหน่ายการเรียน ในที่สุดเด็กไม่อยากเรียนด้วย ยิ่งถ้าครูผู้สอนขาดการดูแลเอาใจใส่นักเรียนเลย ไม่ตรวจแก้ไขการบ้านเลย  เด็กนักเรียนคนนั้นไม่เคยถูกถามเลย  ยิ่งทำให้นักเรียนไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ยิ่งขึ้นและจะไม่ประสบผลสำเร็จในการเรียนยิ่งขึ้นครับ

ธุรกิจของหนู



...........ช่วงนี้กระแสฟุตบอลโลก 2010 กำลังมาแรงครับ แรงจนคุณครูที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเองก็อดดู อดเชียร์ ไม่ได้เลยครับ ยิ่งครูชาญแล้วด้วยชอบทีมบราซิลเป็นที่สุดครับ เพราะเชียร์มาตั้งแต่สมัยเป็นหนุ่มน้อยหน้าใส ๆ แล้วครับ

แต่บ่ายเมื่อวานนะซิครับ พี่ฟร้องนักเรียนชั้น ป.6 ถือหัวอะไรก็ไม่รู้มาด้วย .. แปล๊ก แปลก.. เดินเข้ามาหา เล่นเอาครูชาญงงอยู่นาน สองนาน เลยครับ แล้วค่อยพูดว่า “ครูครับซื้อของไหมครับ”

...หา !...จะให้ครูซื้อ หัวประหลาด นี่เหรอครับ ว่าแต่มันคืออะไรเหรอครับพี่ฟร้อง

“ มันคือกล่องเอนกประสงค์ใช้ใส่ของได้สารพัดประโยชน์ครับ”

อ๋อ มาถึงบางอ้อครับท่านผู้อ่าน เอ..ดูไปดูมาก็ดูสวยและเก๋ดีครับ ว่าแต่สินค้าพี่ฟร้องนะมันเป็นรูป อะไรครับ

“ศิลปะบนหน้าคนครับ” พี่ฟร้องตอบพลางยิ้มพลาง


อืม..แหมสวยจัง ครูชาญคิดในใจ...... เอเริ่มอยากจะได้เป็นเจ้าของแล้วซิครับ ว่าแต่สินค้าพี่ฟร้องราคาเท่าไรครับ

“25 บาท ครับ ”

อื้อ..หือ ราคาไม่เบานะครับ ..ครูชาญนิ่งคิดนานสักครู่หนึ่งครับ เพื่อจะตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ ** ปิ้ง ** มีไอเดียดีดีนะซิครับ “ พี่ฟร้องครับ คุณครูจะซื้อครับ หากเจ้าสินค้า ศิลปะบนหน้าคนของพี่ฟร้อง เป็นสัญลักษณ์ของ ทีมบราซิล

พี่ฟร้องนิ่งคิดสัก ครู่ครับก่อนจะบอกว่า “ เดี๋ยวพรุ่งนี้ผมจะเอามาให้ครับ” แน่ะ! รวดเร็วทันใจดีจริง

และ แล้วผมก็ได้เป็นเจ้าของ กล่องเอนกประสงค์ลวดลายบราซิลสมใจอยากครับ ดีละครับคืนนี้บราซิลเตะจะถือกล่องนี้ไปเชียร์และส่งกำลังใจไปให้นักเตะทีม บราซิลด้วยเลย ...บราซิลสู้ ๆ...บราซิลสู้ ๆ. เป็นแชมป์โลกสมัยที่ 6 ให้ได้นะครับ


ปล. เดี๋ยวเราแวะไปคุยกับพี่ฟร้องกันครับว่าผลงานสวย ๆ นี้ เขามีวิธีการทำอย่างไร ทำไมต้องมาทำอย่างนี้ด้วย นอกจากนี้ พี่ฟร้องเขาบอกว่า

ผลงานชิ้นนี้ของเขาช่วยลดโลกร้อนได้ด้วยครับ ....โอ้..โฮ



1 ก.ค. 2553

คุณครูครับ ทำไมผมต้องเรียนคณิตฯ ด้วยล่ะครับ ...




มีคนอยู่สองกลุ่มใหญ่ๆ ในโลกใบนี้ ก็คือ
คนที่ชอบวิชาเลขกับคนที่ไม่ชอบวิชาเลข


ครั้งหนึ่งทีโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนามีนักเรียนคนหนึ่งเดินเข้ามาถามผมว่า..
“คุณครูครับ ทำไมผมต้องเรียนคณิตฯ ด้วยล่ะครับ?  ในเมื่อพ่อกับแม่ผมก็เพียงแค่ทำนาเท่านั้นเองและก็ไม่เคยเรียนหนังสือมาด้วยซ้ำ ยังเก็บเงินได้ตั้งหลายบาทเลยครับ!!”

ผมก็ยืนอ่ำอึ้ง!! อยู่ตรงหน้าเด็กนักเรียนคนนั้น..
“เรียนเพื่อให้เรารู้ ยังไงล่ะครับ!”

นักเรียนคนนั้น..เหมือนจะเข้าใจในคำตอบสั้นๆ ของผมและเขาก็ขอตัวไปเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ..
แต่... ผมเองก็ยังงุนงงกับคำตอบของตัวเองในครั้งนั้นเรื่อยมาและก็ยังสงสัยมากๆ ว่านักเรียนคนนั้นมีความเข้าใจกับคำตอบนั้นของผมสักเพียงใด..

ผมเองก็พยายามสอบถามความเข้าใจในคำตอบวันนั้นกับนักเรียนคนเดิม แต่เขาก็เพียงตอบว่า..
“ผมก็แค่ถามคุณครูเท่านั้นเองล่ะครับ!!”
เหมือนกับว่า..
ถามเพื่อต้องการให้ผมตอบๆ เท่านั้นเอง ไม่ได้หวังผลลัพธ์ของคำตอบจะออกมาเช่นไรเลย..
แต่...คำถามนั้นกลับสวนทางกับแนวคิดเดิมๆ ของผมที่เรียนคณิตศาสตร์มาเกือบทั้งชีวิต ตั้งแต่เข้าเรียนจนถึงตอนนี้ผมก็ยังสอนวิชาคณิตศาสตร์..


สมัยผมเรียนในระดับมัธยมผมชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์มากๆ ทั้งระดับ ม.ต้น และระดับ ม.ปลาย เพราะในขณะนั้นเองผมเรียนรู้ความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างครูกับนักเรียนตลอดระยะเวลา 6 ปี เต็มๆ จนกระทั่งเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยฯ ผมก็เรียนรู้อยู่กับคณิตศาสตร์ขั้นที่สูงขึ้นมาอีก 4 ปี เต็มๆ จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา ผมก็ยังได้มาเป็นครูสอนคณิตศาสตร์อีก อาจจะผูกพันไปตลอดทั้งชีวิตกับวิชาคณิตศาสตร์นี้ ถ้าปี ค.ศ. 2012 โลกไม่แตกเสียก่อน..

อย่างไรก็ตาม..จะเห็นว่าความผูกพันกับวิชาคณิตศาสตร์ที่มีมามากกว่า 10 ปี ผมก็ยังงุนงงกับคำถามของนักเรียนคนนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งนักเรียนคนนั้นสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนฯ ไปแล้ว ผมก็ยังมีความเชื่อลึกๆ ว่า.. คำตอบในวันนั้นของผมก็ยังไม่กระจ่างเท่าที่ควร..