5 ก.ค. 2553

ทำไมเด็กนักเรียนจึงมีปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ...


      มีเหตุการณ์หนึ่งในชั่วโมงสอนเสริมวิชาคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ประจำปีการศึกษา 2553 โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ 
วันนั้นผมสอนนักเรียน 3 คน มีรายชื่อดังนี้ครับ..
1. ด.ช.กิตติภูมิ  ขุนวงศ์(พี่ฟิล์ม)
2. ด.ช.ประภาส  กุลวงษ์(พี่ศักดิ์)
3. ด.ช.กฤษณพล  เซียรจันทึก(พี่กาย)
ผมถามนักเรียนว่า..
“มีลูกกวาดอยู่ 12 ลูก แบ่งลูกกวาดทั้งหมดให้ พี่ฟิล์ม พี่ศักดิ์ และพี่กาย คนละเท่าๆกัน แล้วอยากทราบว่าพี่ศักดิ์จะได้ลูกกวาดกี่ลูกครับ..”
 ผู้เรียนทั้ง 3 คน ต่างคิดวิธีการแบ่งจำนวนลูกวาด โดยพี่กายขออาสาแบ่งลูกกวาดโดยเริ่มแบ่งให้เพื่อนทีละ 1 ลูก พี่กายเป็นคนนำลูกกวาดทั้ง 12 ลูก มาเวียนการแบ่งให้ทั้งสิ้นได้ 4 รอบ พอดีและนักเรียนแต่ละคนได้ลูกกวาด 4 ลูกเท่าๆ กัน ผมจึงถามนักเรียนว่า “ใครที่มีวิธีคิดแตกต่างครับ”  พี่ฟิล์มยกมือและขออาสาอธิบายวิธีคิดให้ฟัง โดยพี่ฟิล์มบอกว่า “ผมใช้วิธีการหารครับ 12 / 3 ได้ 4 ครับ”  และผมจึงถามวิธีคิดพี่ศักดิ์ว่า "พี่ศักดิ์มีวิธีคิดที่แตกต่างจากเพื่อนๆ อย่างไรครับ" พี่ศักดิ์ใช้การวาดภาพลูกกวาดทั้ง 12 ลูก แล้วใช้ดินสอวงกลมจัดกลุ่มลูกกวาดได้ 3 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ลูก เท่าๆ กัน นี้เป็นเพียงบางส่วนในการสอนเสริม ทำให้ผมมองเห็นความสำคัญในการเตรียมความพร้อมในวิชาคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนที่อยู่ในระดับชั้นที่ต่ำกว่านี้..
ปัญหาคณิตศาสตร์ดังกล่าวนั้นนะครับ ถ้าเป็นการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 การแก้ปัญหาก็จะใช้ของจริงหรือวาดภาพเป็นแผนภูมิแสดงการแบ่ง สำหรับระดับประถมศึกษาปีที่ 2 การแก้ปัญหาจะเป็นการเขียนประโยคสัญลักษณ์ 12 / 3 = 4 แต่ถ้าเป็นเด็กอายุมากขึ้น เด็กนักเรียนก็อาจจะสามารถที่จะตอบคำถามได้โดยเกือบจะเรียกได้ว่าทันทีทันใดเลยทีเดียวครับ เมื่อถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หรือระดับชั้นที่สูงขึ้น แทนที่ครูจะให้แบ่งลูกกวาดจำนวน 12 ลูก ก็อาจจะเปลี่ยนตัวเลข เป็น 23 หรือ 69 แทน ในอีกระดับชั้นนะครับ..
     สาเหตุของการจัดการเรียนการสอนเช่นนี้ก็เพราะว่า เด็กๆนักเรียนจะได้ใช้วิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างไปตามระดับของการพัฒนา..
ขั้นแรก..นักเรียนจะได้เรียนรู้แนวคิดผ่านการปฏิบัติจริงจากการได้ลงมือทำ ต่อมาครูสามารถใช้รูปภาพแทนของจริงได้และในที่สุดนักเรียนเกิดการมองเห็นภาพในสมอง(Visualizations) ในเรื่องของสัญลักษณ์..
เด็กนักเรียนจะต้องมีเวลามากพอที่จะได้เรียนรู้ความหมายของแนวคิดหรือมโนมิติของเรื่องต่างๆ อาทิเช่น เรื่องการหาร ครูผู้สอนจงอย่าได้ลัดขั้นตอนและสอนนักเรียนให้เรียนรู้เพียงจากสัญญาลักษณ์ทางคณิตศาสตร์เท่านั้นนะครับ ในการช่วยเด็กนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องของคณิตศาสตร์ ครูผู้สอนจงยึดมั่นกับหลักการพื้นฐานเสมอ อย่าสอนพียงแต่ขั้นตอนในการคำนวณหาคำตอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ...
ปล. การสอนเสริมนักเรียนที่เรียนรู้ช้า “เราสอนเสริมให้กับเขาเพื่อให้เขารู้สึกว่าตัวเขาเองยังมีคุณค่า ยังมีครูยังค่อยเอาใจใส่ ไม่ทอดทิ้งเขา” ครูใหญ่เคยบอกผม...

1 ความคิดเห็น: