31 พ.ค. 2557

ความเห็นอกเห็นใจ - Empathy

 ช่วงการเรียนรู้ตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเด็กๆ นักเรียนหญิง ม.1 ทั้ง 9 คน และนักเรียนชาย 8 คน
ครูมองเห็นพัฒนาการในด้านการเรียนรู้หลายด้านมาก เช่น
- การรู้หน้าที่ ความรับผิดชอบ
- การมีสมาธิในการรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น
- ความมุ่งมั่นจดจ่อกับภาระงานที่ได้รับมอบหมาย
ฯลฯ


การเรียนรู้งานที่มอบหมาย เด็กๆ ทุกคนชอบลุยงานมากๆ

การขนดิน - การมีน้ำใจช่วยเหลือกันและกัน วันนั้นผมพานักเรียนผู้ชายไปขนดินจากหลังโรงเรียนฯ ซึ่งเป็นระยะทางค่อนข้างไกล และรถไสที่ขนดินก็มีสภาพชำรุด เด็กๆ ผู้ชายทั้ง 8 คน ช่วยกันขนดินช่วงเวลาก่อนเที่ยง แดดแรงมากๆ เด็กนักเรียนและคุณครูช่วยกันขนผ่านไป 3 รอบ ก็เลยนั่งพักและพูดคุยกันถึงเรื่องดินที่พวเราขนมาในรถไส จากที่พวกเราคาดคะเนดูนี้ น่าจะได้ประมาณ 1 รถไส ต่อดิน 1 ท่อ ผมก็เลยนั่งฟังอยู่ด้วยเด็กๆ ผู้ชายคนหนึ่งก็เลยพูดขึ้นมาลอยๆ ว่า "โอ้โห่..เราเพิ่งขนดินมาได้เพียง 3 รอบเอง เหลืออีกประมาณ 16-17 รอบเลยใช่ไหมครับครู.." 
  
* ซึ่งมันเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เด็กๆ นั่งพูดคุยกันแต่มันก็แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจผู้อื่น มองเห็นเพื่อนๆ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นเรื่องราวที่สอนตัวตนของแต่ละคนได้ยากมากๆ มันขึ้นอยู่กับจังหวะและเหตุการณ์ที่ผ่านห้วงชีวิตคนนั้น ที่จะสอนตัวเขาเองหรือครูเป็นเพียงผู้สร้างแบบอย่างให้เขาได้เรียนรู้

การปรุงท่อ ผสมดิน - ช่วงที่เด็กๆ นักเรียนผู้ชายไปขนดินหลังโรงเรียนฯ กับคุณครู เพื่อนๆ นักเรียนผู้หญิงก็ทำงานเตรียมท่อ / หาข้อมูลเกี่ยวกับการปรุงท่อให้อยู่ในสภาวะในการพร้อมที่จะลงเมล็ดข้าวปลูก นักเรีนยผู้หญิงก็แบ่งหน้าที่กันและกัน ช่วยดูแลท่อของเพื่อนๆ ผู้ชาย ดูแลการเติมน้ำเพื่อให้ท่อปูนอิ่มน้ำ หาเศษพืช ฟาง ผลไม้รสเปรี้ยวมาเติมลง และหาปุ๋ยจากคอบของปัญญา-เรณู มาเตรียมไว้ให้เพื่อนผู้ชายเตรียมปรุงตามสูตรของแต่ละคน


ยังมีอีกหลายเหตุการณืที่ผมมองเห็นถึงความเห็นอกเห็นใจ - Empathy

การที่เห็นนักเรียนงอกงามในแตละวัน คือ แรงใจขับเคลื่อนการทำงานของครู..

27 พ.ค. 2557

สัมพันธภาพ : ครู l ผู้ปกครองพี่ๆ ม.1

สรุปกิจกรรมวันปฐมนิเทศผู้ปกครอง
วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2557

ช่วงเช้า : กิจกรรมของทางสมาคมฯ
ช่วงบ่าย : กิจกรรมสร้างสัมพันธภาพระหว่างครูและผู้ปกครองชั้น ม.1 ที่ ที่ใต้ถุนอาคารเรียน ม.1 ซึ่งสามารถสรุปรายละเอียดกิจกรรมต่างๆได้ดังนี้
- ผ่อนคลายร่างกาย
- แนะนำตัว
- โยคะ หลับตา ฟังเสียง
- เป็ดชิงรัง
- เกม รวมเงิน เพื่อเป็นกิจกรรมแบ่งกลุ่ม
- แบ่งกลุ่มเขียนกิจกรรม : ทำเอง – ทำร่วม –ขอความร่วมมือ
- แสดงละครจากบัตรคำ
- แสดงละคร
- สรุปการเรียนรู้ ตลอดกิจกรรรม


สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ ร่วมกันระหว่างครู : ผู้ปกครอง
- ผู้ปกครองและคุณครูมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เปิดใจ ร่วมเรียนรู้ เกิดความเข้าใจกันและมองเห็นเป้าหมายในการพัฒนาลูกๆ เกิดความอิ่มเอมและผ่อนคลาย
- เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การสื่อสารพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังกันมากขึ้น
- ได้เรียนรู้กิจกรรมต่างๆเหมือนที่ลูกๆ ได้ทำที่โรงเรียน เป็นบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และเกิดความสนุกสนาน มองเห็นถึงความสุขที่ลูกๆ จะได้รับจากกิจกรรมต่างๆ เช่นกัน
- อยากให้มีกิจกรรมร่วมสัมพันธ์เช่นนี้บ่อยๆ รู้สึกสนุกสนาน ผู้ปกครองทุกคนได้พูดคุยกัน ได้ร่วมมือกันทำตามเป้าหมายจนสำเร็จ

สิ่งที่แจ้งเพิ่มเติม..
- ผู้ปกครองชั้น ม.1 จะมีสมุดบันทึกกิจกรรมการเรียนรู้ทุกคน เขียนเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของลูกๆ เพื่อนำมาพูดคุยกับครูประจำชั้น ถึงสิ่งที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกๆ
- ผู้ปกครองทุกคน จะเข้ามาพูดคุยถึงความเปลี่ยนแปลงของลูกๆ กับครูประจำชั้นทุกเดือนๆละ 2 ครั้ง
( ทุกวันอังคาร)
- ผู้ปกครองทุกคน ร่วมกันบริจาคเงินคนละ 500 บาท เพื่อตั้งเป็นบัญชีกองทุนเงินฝากของชั้น ม.1 เพื่อใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ

26 พ.ค. 2557

เด็กชายแขนขวา

 พี่เหน่งเป็นนักเรียนที่มีแขนเพียงข้างเดียว เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุช่วงเรียนระดับประถมฯ
ขับรถมอเตอร์ไซต์กับตา

ตอนเรียนระดับประถม เป็นนักเรียนที่กล้าแสดงออก มีความสามารถในการร้องเพลง
Happy http://www.youtube.com/watch?v=CMU0xZILYcY

การมีน้ำใจ - การเปลี่ยนแปลงตัวเองในด้านที่งอกงาม

หลายเรื่องที่คุณครูคุยกันถึงเรื่อง ความมีจิตอาสาของพี่เหน่งที่ทำหน้าที่ของตนเองเสร็จ แล้วยังมีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนๆ บ่อยครั้ง


เพื่อนๆ และคุณครูไม่เคยมองว่าพี่เหน่งจะทำเรื่องนี้ไม่ได้ เรื่องนั้นไม่ได้เลยสักเรื่อง ทุกคนล้วนมีคุณค่า..

และหลายๆ เรื่องที่พี่เหน่องทำเป็นชิ้นงานสำเร็จออกมาแล้ว คนที่มีอวัยวะครบ 32 ยังไม่สามารถทำได้เลยครับ

ช่วงที่เรียนวิชาPBL เกี่ยวกับการปลูกข้าว 4 เมล็ด ให้ได้ 2000 เมล็ด ในครั้งนี้..
เด็กๆ ทุกคนมีท่อที่ใช้ปลูกข้าวของทุกคน การขนดินขุดดินมาเติมในท่อนั้น ค่อนข้างจะลำบากมากๆ
แต่พี่เหน่งทำด้วยตนเองทุกกิจกรรม ขนดิน ผสมปุ๋ยเอง อาสาไปเอาเศษหญ้า ช่วยเติมน้ำในท่อ ฟาง มาแบ่งปันเพื่อนๆ และครู

ช่วงเวลาตลอด 2 สัปดาห์..สิ่งที่สะท้อนให้เห็น


      เวลาที่เพื่อนๆ ผู้ชายไปขนดิน พี่เหน่งมีความอดทนมุ่งมั่นเต็มที่กับกิจกรรมที่ครูพาไปทำ เช่น การขนดิน เขนรถไส เทดิน ชึ่งมีระยะทางประมาณ 200-500 เมตร ที่ต้องเขนรถไสไปเอาดินมาลงท่อ แสงแดดก็ร้อนมากๆ และพี่เหน่งกับเพื่อนๆ ผู้ชายกลับมากันเหนื่อยๆ ก็ยังช่วยอาสาผสมดินให้เพื่อนๆ กับครู เช่นทุกๆ ครั้ง นักเรียนผู้หญิงทั้ง 9 คนก็ช่วยกันหาข้อมูลมาแบ่งปันผู้ชาย เตรีบมท่อให้ ทำความสะอาดบริเวณโดยรอบของบริเวณปลูกรอกัน

ระหว่างทางการเรียนรู้ PBL ทุกๆ ชั่วโมง...
"ผมเห็นการทำงานของลูกศิษย์ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจทำภาระงานที่ได้รับมาอย่างเต็มที่สุดความสามารถของแต่ละคน โดยที่ไม่ย่อท้อ และกล้าที่จะเผชิญกับปัญหานั้นๆ ที่พบระหว่างการเรียนรู้ .. ซึ่งจะนำมาสู่ทักษะการแก้ปัญหาของนักเรียนทุกคน แต่ละคนปัญไม่มีซ่ำกันเลย เพราะปลูกคนละท่อ คนละสูตร.. >>มันสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนา ความงอกงามในของของเขาเหล่านั้น "
พี่เหน่งยังมีความสามารถในการเล่นกีฬา อยู่ในระดับดีมาก ชอบเล่น ฟุตบอล

ทุกๆ สิ่งสะท้อนถึงความงอกงามของลูกศิษย์ คือ กำลังใจที่มอบให้ครู..

เพื่อนๆ ช่วยพี่่ออดี้

นักเรียนคนหนึงพึ่งย้ายเข้ามาอยู่กับเพื่อนๆ รุ่นนี้ได้เพียง 1 ปีกว่าๆ คื่อ พี่ออดี้..

การปลูกข้าวในครั้งนี้เด็กๆ ทุกคนทั้ง 17 คน มีนักเรียน 16 คน เคยทำนามาก่อนหมดแล้ว และมีนักเรียน 1 คน ซึ่งไม่เคยทำนามาก่อน ไม่เคยจับจอบ ขนดิน ลุยโคลน ขนดิน ตักขี้ความ ตักขี้ไก่ หอบฟาง เขนรถไส ..

เรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างชั่วโมงการเรียนการสอน เกี่ยวกับการปลูกข้าว 4 เมล็ด ให้ได้ 2000 เมล็ด

การเรียนรู้ระหว่างทาง มันเกิดความปลื้มปีติหลายๆ ครั้ง ที่เห็นนักเรียนมีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เพื่อนผู้ชาย เพื่อนๆ ผู้หญิง ยื่นมือเข้ามาช่วยพี่ออดี้ โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ
โดยการปลูกข้าวในครั้งนี้ครูก็พยายามใช้คำถามกระตุ้นการเรียนรู้ ความคืบหน้าในการทดลองปลูกข้าวในครั้งโดยตลอด รวมถึงพี่ออดี้

วันนี้ตอนเช้า คุณครูได้พูดคุยกับนักเรียนในชั่วโมงจิตศึกษา เกี่ยวมุมมองของนักเรียนแต่ละคนที่มองเห็นกันและกันในแต่ละด้าน

ครูใช้คำถามสุ่มนักเรียนแต่ละคนทั้งหญิงชาย รวมถึงมุมมองที่เพื่อนๆ เห็นพี่ออดี้
ก่อนหน้าจะให้เพื่อนๆ สะท้อนความคิดเห็นมุมมองต่างๆ ของพี่ออดี้

ครูถามพี่ออดี้ว่า "พี่ออดี้คิดว่า ทำไมเพื่อนๆ ถึงเข้ามาช่วยงานเกี่ยวกับการปลูกข้าวในครั้งนี้"
พี่ออดี้ "ผมก็ไม่รู้ครับ / ยัง..คิดไม่ออกครับ"
ครู "เชิญเพื่อนๆ สะท้อน.."


เพื่อนๆ สะท้อนถึง...
- พี่ออดี้เป็นคนมีความรู้ในหลายๆ เรื่อง เช่น ไดโนเสาร์ อวกาศ หรือสงคราม เราทุกคนก็ได้ความรู้จากคำตอบของพี่ออดี้หลายๆ ครั้งค่ะ
- พี่ออดี้เป็นคนมีน้ำใจ เคยนำหนังสือมาให้ยืมอ่านตอยู่อยู่ ป.6 ค่ะ
- อยู่ใกล้แล้วสนุกดีครับ ออดี้เล่าเรื่องเกมส์ให้ฟัง
- เพราะพี่ออดี้อาจจะยังไม่เคยทำงานนี้มาก่อน เราเคยทำมา ทำเสร็จเร็วก็เลยช่วยเพื่อนที่เขาทำได้ช้าค่ะ/ครับ

ครูก็เลยอ๋อ... ถึงภูมิหลังที่เพื่อนๆ เข้ามาช่วยเพื่อนในการทำงานครั้งนี้..

เห็นการทำงานร่วมกัน ความสามัคคีเกิดขึ้น เด็กๆ ทุกคนไม่ย่อท้อเมื่อเผชิญหน้ากับอุปสรรค/ปัญหา



23 พ.ค. 2557

เตรียมท่อ - ปรุงท่อซีเมนส์ให้เป็นมีฤทธิ์เป็นกรด


นักเรียนจะปลูกข้าวในพื้นที่จำกัด ทุกคนจะมีพื้นที่เพียงคนละ 1 ท่อเท่านั้น

พื้นที่เพียงจำกัดเด็กๆ จะสามารถควบคุมปริมาณของธินาตุิาหารในดินได้ ควบคุมปริมาณของน้ำ

เตรียมท่อ - เตรียมการปลูกข้าวสินเหล็ก
*ข้าว 1 เมล็ด เมื่องอกเป็นต้นข้าว สามารถแตกออกมาได้มากมายอาจมากถึงหลายร้อยต้นในกอเดียว แต่โดยทั่วไป อาจแตกออกมาได้ 60 ต้นทั้ง 60 ต้นอาจมี 50 ที่สมบูรณ์ออกรวง
รวงข้าวขนาดกลางๆทั่วไป แต่ละรวงให้เมล็ดข้าว 250-300 เมล็ด คัดเอาเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์พร้อมจะงอกได้ดีไม่ถูกมอดแมลงเจาะกิน อาจได้ 200 เมล็ดต่อรวงฉะนั้น จากข้าวเมล็ดเดียวเมื่อนำมาเพาะปลูกไว้เพียงรอบการผลิตเดียวได้กลายเป็นข้าว 10,000 เมล็ด
ข้าว 10,000 เมล็ดที่ได้นี้ เมื่อนำมาปลูกในรุ่นต่อไป ชาวนาที่พากเพียรนั้นจะค่อยๆแยกปลูกทีละเมล็ด ทีละเมล็ด จนครบหมื่น ก็จะให้ผลผลิตข้าวในรอบการผลิตต่อมาเป็นหนึ่งร้อยล้านเมล็ด

เนื่องจากเด็กๆ พบว่าท่อปูนซีเมนส์ที่จะนำมาปลูกข้าวมีฤทธิ์เป็นเบสอ่อนๆ โดยเด็กๆ ทดสอบโดยกระดาษแช่น้ำดอกอัญชัน
เด็ก ม.1 เก็บดอกอัญชันมาต้มแล้วจุ่มกระดาษเนื้อแข็ง : แทนกระดาษลิตมัส ทดสอบกรด-เบส ในท่อเตรียมปลูกข้าว 4 เมล็ด

21 พ.ค. 2557

เรื่องเล่าเร้าพลัง 3 - ขอยืมเงินแม่

เรื่องนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้วผมเคยนำไปเล่าให้เด็กๆ ฟังก่อนกลับบ้านกับชั่วโมงจิตศึกษา เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแห่งพลังความรักที่มาจากครอบครัว
บางครั้งครูอาจจะเดาไม่ได้หรอกว่าเรื่องใดที่ครูเราเล่าสู่เด็กๆ นักเรียนฟัง มันจะส่งผลกระทบกับความรู้ของของเด็กๆ

.............................................................................................

ลูกชาย : แม่ครับ ผมขอถามอะไรหน่อยได้ไหม ?
แม่ :.. ได้สิ .. ลูกจะถามอะไร ?
ลูกชาย : แม่ครับ ใน 1 ชั่วโมงแม่หาเงินได้เท่าไหร่เหรอ ครับ?
แม่ : มันไม่ใช่ธุระอะไรของลูก ทำไมถึงถามอะไรแบบนี้ ?
ลูกชาย : ผมแค่อยากรู้ ได้โปรดบอกผมเถอะครับ
แม่ : ถ้าลูกต้องรู้ให้ได้ แม่ก็จะบอกให้ฟัง
ใน 1 ชั่วโมงแม่หาเงินได้ 100 บาท
ลูกชาย : โห !!! (ทำหน้าเศร้าพร้อมกับก้มหน้าลง)
ลูกชาย : แม่ครับ ผมขอยืมเงินแม่ 50 บาทได้ไหมครับ?


แม่ของเขาโมโหอย่างมาก !!
แม่ : ถ้าด้วยเหตุผลที่ลูกถาม
เพียงเพราะอยากจะขอยืมเงินแม่
เพื่อไปซื้อของเล่นห่วย ๆ หรือ สิ่งของไร้สาระพวกนั้น
ลูกควรจะนำตัวเองตรงกลับไปที่ห้อง และ เข้านอน
พร้อมกับคิดว่าทำไมถึงเป็นคนเห็นแก่ตัวแบบนี้
แม่ทำงานหนักทุกวัน เพื่อเลี้ยงลูกที่มีนิสัยอย่างนี้เหรอ

เด็กชายตัวน้อย เงียบลง
และค่อยๆเดินขึ้นไปที่ห้องของเขาและปิดประตูลง
แม่ นั่งลงด้วยความโมโห นึกย้อนคิดถึงคำถามของลูกชาย
เขากล้าถามกับเราอย่างนั้นได้อย่างไร
เพียงเพื่อแลกกับเงินบางส่วน

ผ่านไป 1 ชั่วโมง..อารมณ์ของแม่เริ่มสงบลง และเริ่มคิดได้ว่า
บางทีอาจจะมีบางสิ่งที่มีราคา 50 บาท ซึ่งลูกอยากได้จริงๆ
และความจริงแล้ว เขาก็ไม่เคยถาม หรือ ขอเงินเรามาก่อนเลย
ดังนั้นเอง แม่ จึงตัดสินใจเดินขึ้นไปหาลูกน้อยที่ห้องนอน

แม่ : ยังไม่นอนอีกเหรอลูก ?
ลูก : ไม่ครับแม่ ผมยังไม่นอน
แม่ : แม่ มาคิดดูแล้ว บางทีแม่คงทำงานจนเหนื่อยเกินไป
ถึงได้พูดกับลูกแรงขนาดนั้น
นี่เงิน 50 บาทที่ลูกขอยืมแม่ เอาไปสิ

หนุ่มน้อยฉีกยิ้มด้วยความดีใจ พร้อมกับลุกขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทันใดนั้นเอง เด็กน้อยก็รีบดึงแบงค์ยับๆจำนวนหนึ่ง
และ เศษเหรียญ ออกมาจากใต้หมอนของเขา
เขาบรรจงนับมันอย่างช้าๆ แล้วค่อยๆเงยหน้าขึ้นมองแม่
ในขณะเดียวกันกับที่แม่เริ่มจะโมโหขึ้นอีกรอบ
เพราะเห็นลูกชายซ่อนเงินจำนวนหนึ่งไว้ใต้หมอน

แม่: ลูกจะเอาเงินเยอะแยะขนาดนี้ไปทำอะไร
ในเมื่อลูกก็มีมันอยู่มากแล้ว (แม่ถามด้วยอารมณ์เริ่มโกรธ)

ลูกชาย : เพราะผมมีไม่พอครับแม่ แต่ตอนนี้ผมมีครบแล้ว
แม่ครับ นี่เงิน 100 บาท ผมขอซื้อเวลาทำงานแม่ 1 ชั่วโมง
พรุ่งนี้ตอนเย็น แม่ช่วยกลับบ้านมาหาผมเร็วๆนะครับ
"ผมเพียงแค่อยากจะกินข้าวเย็นกับแม่ครับ"

กิจกรรมจัดดอกไม้ของพี่ๆ ม.1

   เรียนรู้การจัดวาง เรียบเรียงความคิด สะท้อนความรู้สึกและอารมณ์
 เพื่อเข้าใจตนเองและผู้อื่นมากขึ้น

การจัดดอกไม้ที่ต้องอยู่ในบรรยากาศเงียบสงบ มีเป้าหมายเพื่อความผสานผสมกลมกลืนระหว่างคนกับธรรมชาติ ตลอดจนถึงกระตุ้นความชื่นชมต่อจังหวะของจักรวาล การริเริ่มสร้างสรรค์และพลังแห่งจิตวิญญาณ
การจัดดอกไม้มีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมกันนำมาใช้ในการจัดดอกไม้มากที่สุดคือ ศิลปะการจัดดอกไม้แบบ โคริงกะ หากถอดตามรากศัพท์ออกมาทีละคำ จะมีความหมายดังนี้ โค แปลว่าแสงสว่าง ริง แปลว่าวงกลม และ กะ แปลว่าดอกไม้ ซึ่งเมื่อนำมารวมกันแล้วมีความหมายว่า “ดอกไม้แห่งแสงสว่าง”
    ศิลปะการจัดดอกไม้นี้เป็นแบบตะวันออก มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้จัดได้สัมผัสกับดอกไม้ สัมผัสกับความงาม และมีความรู้สึกเพลิดเพลินไปกับความงามของดอกไม้ ช่วยพัฒนาจิตใจของเราให้มีความอ่อนโยน สงบ ผ่อนคลาย มองโลกในแง่ดี แล้วยังส่งผลดีทั้งต่อสุขภาพจิตและกาย ซึ่งศิลปะการจัดดอกไม้แบบโคริงกะนี้ เป็นวิธีหนึ่งในการบำบัดเยียวยาและผ่อนคลายจิตใจแบบญี่ปุ่น ช่วยทำให้เกิดความผ่อนคลาย มีสมาธิ เกิดความสงบทุกขณะที่สัมผัส จัดวาง และขณะที่ชื่นชมดอกไม้
ค้นพบความสงบอยู่กับตัวเอง การจัดเรียงกายใจ สัมผัสกับวัสดุรอบๆ บ้านเรือนไทย ชั้น ม.1 วัสดุที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเราที่เราเดินผ่านตลอด มองข้าม แต่ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

16 พ.ค. 2557

แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นิวรณ์๕ กับคุณครูใหม่

      ก่อนเปิดเรียนปีการศึกษานี้ คุณครูสังข์มาชวนผมกับครูเส็งร่วมทำกิจกรรมพัฒนาครูใหม่ ถ่ายถอดความศิลปะการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่(ป่วนน..2) ให้กับน้องๆ ครูใหม่ทั้ง 5 คน
เข้าใจเกี่ยวกับการอบรม
น้องๆ ทุกคนให้ความร่วมมือของกิจกรรมเป็นอย่างดี เพื่อเตรียมจะนำไปใช้กับเด็กๆ นักเรียนช่วงเปิดเทอม เพราะปีการศึกษานี้เราเปลี่ยนวันเปิดเทอมจากวันที่ 19 พ.ค. 2557 มาเป็นวันที่ 14 พ.ค. 2557 เพื่อเป็นการให้นักเรียนกับคุณครูสร้างความคุ้นเคยกันก่อนจะลงสู่กิจกรรมการเรียนการสอน 3 วันเต็ม และกิจกรรมดังกล่าวคุณครูทุกระดับชั้นยังจะได้นำไปใช้กับผู้ปกครองของเด็กๆ ทุกระดับชั้น


เสียงสะท้อนจากน้องๆ ครูใหม่ครับ
- การเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง เรียนรู้ถึงสภาวะอารมณ์ภายใน เรียนรู้วิธีการจัดการสภาวะอารมณ์ของตัวเอง การมีสติ เช่น กิจกรรมเช็คอุณหภูมิ กงล้อสี่ทิศ กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกมวาดภาพมหาสนุกเกมเดชิงรัง จุดช้าง เพื่อปรับตัวพร้อมที่จะเรียนรู้กับผู้อื่น รู้เท่าทันความคิดของตัวเอง (ครูแต)


- อบรมนิวรณ์ 5 ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้และการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง มีการทำกิจกรรมเรียนรู้ลักษณะพฤติกรรมของตนเองแล้วเปรียบเทียบเหมือนสัตว์ 4 ชนิด กระทิง หมี เหยี่ยว และหนู หลังจากนั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มีกิจกรรมเป็ดชิงรัง กิจกรรมจุดอารมณ์ เกมกบ เกมวิวัฒนาการ ในกิจกรรมแต่ละกิจกรรมจะแทรกวิธีการจัดการกับอารมณ์ตนเองได้ถูกวิธี (ครูเดีย)


- การทำกิจกรรมนิวรณ์ ๕ ทำให้ดิฉันได้รู้จักผู้อื่นมากขึ้นว่าจริงๆแล้วสิ่งที่เค้าเป็นกับสิ่งที่เราคิดอาจจะไม่เหมือนกันกิจกรรมนี้ทำให้ทำให้เข้าใจผู้อื่นและรู้จักผู้อื่นมากขึ้นได้แลกเปลี่ยนความคิดได้รู้ถึงความเป็นอยู่ความคิดของเขาว่าเป็นอย่างไรได้บอกความรู้สึกและความต้องการว่าเราคิดอย่างไรได้ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับผู้อื่นเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีมีเหตุผลและการเป็นผู้ฟังที่ดีการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและกิจกรรมต่างๆทำให้เราเกิดสมาธิเกิดการคิดในเชิงลึกทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้นรวมถึงวิธีการทำงานต่างๆและที่สำคัญทำให้เกิดการเรียนรู้อะไรหลายๆอย่างทำให้เข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับการเรียนการสอนได้อย่างมากมาย (ครูกิ๊ฟ)

ขอบคุณการเรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้ครับ

15 พ.ค. 2557

เรื่องเล่าเร้าพลัง 2 - จาก ผู้รู้วาระสุุดท้ายของชีวิต

     เรื่องนี้สอนเรื่อง "ความเห็นอกเห็นใจ" หรือ "Empathy" ผมเคนนำไปอ่านให้เด็กฟังขณะทำกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนเรียน ซึ่งเด็กๆ ให้ความสนใจกับการเปลี่ยนเปลี่ยนความคิดของคุณหมอ Dr. Richard Teo มากมาย
เด็กๆ หลายคนเกิดคำถามกับตัวเองขณะใช้ชีวิตในแต่ละวัน หากตัวเรามีโรคเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

- บางช่วงของการอบรมผมเคนเห็นครูใหญ่ยกตัวอย่างกรณีมาพูดคุยกัน ผมชอบเรื่องราวประเภทนี้มากๆ

..........................................................................

: ส่วนหนึ่งจากคำบรรยายของ Dr. Richard Teo
แพทย์ด้านความงามชื่อดังชาวสิงคโปร์ อายุ
40 ปี
ซึ่งพบว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็งปอด ระยะสุดท้าย
เขาได้มาเล่าประสบการณ์ชีวิต ให้ในชั้นเรียน
ของนักศึกษาทันตแพทย์ในวันที่ 19 มกราคม 2012
และเขาเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2012
ข้อคิดจากบทความนี้ จะเป็นบุญกุศลแก่เขา อย่างยิ่ง :

: สวัสดีครับทุกท่าน ผมอยากจะมาแบ่งปันประสบการณ์ในชีวิตของผม
ผมเป็นผลผลิตที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ ตามที่สังคมต้องการ
ผมถูกพร่ำสอนจากสื่อต่างๆ จากผู้คนรอบๆตัวว่า
ความสุขเป็นเรื่องของความสำเร็จ และความสำเร็จที่ว่า
ก็เป็นเรื่องของความร่ำรวย ด้วยแนวคิดนี้ ผมจึงต้องต่อสู้
แข่งขันอยู่เสมอ ตั้งแต่เป็นเด็ก
: ไม่เพียงแต่ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุด
ผมต้องประสบความสำเร็จ ในทุกสนามแข่งขัน
ในทุกกลุ่มที่สังกัด ต้องได้รับชัยชนะทุกๆ อย่าง
: จักษุวิทยา เป็นหนึ่งในสาขาที่แย่งกันเรียนมากที่สุด
ดั้งนั้นผมจึงต้องเรียนจักษุวิทยาให้ได้ และผมก็ได้เรียน
แถมยังได้ทุนงานวิจัย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
เพื่อพัฒนาเลเซอร์ สำหรับรักษาตาอีกด้วย
: แต่ความสำเร็จทางวิชาการพวกนี้ ไม่ได้นำความร่ำรวยมาให้ผมเลย
ดังนั้นหลังจากหมดพันธะ กับทางมหาวิทยาลัยแล้ว
ผมบอกกับตัวเองว่า การฝึกฝนทางจักษุวิทยา มันใช้เวลานานเกินไปแล้ว
ผมน่าจะทำเงินได้มากโข ในภาคเอกชน.
: พวกคุณคงพอรู้ว่าเรื่องของเวชศาสตร์ความงาม ทำเงินได้มหาศาล
ดังนั้นผมจึงตัดสินใจ พอกันทีกับงานในมหาวิทยาลัย
ถึงเวลาต้องไปแล้ว ผมจึงลาออกจากการ train กลางคัน
และหันเหไปตั้งคลินิกความงามของตัวเอง
: พวกคุณรู้มั้ย น่าขำที่ผู้คนไม่ได้มองหาฮีโร่จากแพทย์ทั่วไป (GP)
หรือแพทย์ครอบครัว (family physician)
พวกเขามองหาฮีโร่จากแพทย์ที่มีชื่อเสียง และร่ำรวย
พวกเขาจะไม่มีความสุขกับการเสียเงิน 20 เหรียญ เพื่อพบแพทย์ทั่วไป
แต่ไม่บ่นสักคำที่จะจ่ายเป็นหมื่นๆ ดอลล่าร์ สำหรับการดูดไขมัน
หรือเสริมเต้านมหรืออะไร ดูเหมือนไม่มีสมองเอาเลยว่ามั้ยครับ
แล้วพวกคุณจะเป็น GP ไปทำไมกัน เป็นแพทย์ความงามดีกว่า
: คุณเอ๋ย ธุรกิจมันดี ดีจริงๆ ผ่านไป 1 สัปดาห์ 3 สัปดาห์
1 เดือน 2 เดือน แล้วก็ 3 เดือน คลินิกผมก็ล้น คนมารับบริการมากมาย
ช่างเป็นธุรกิจที่มหัศจรรย์จริงๆ ผมต้องจ้างแพทย์เพิ่มถึง4คน
ภายในปีแรก ผมทำเงินเป็นล้านๆ นั่นแค่ปีแรกนะ
ผมเริ่มลุ่มหลง หมกมุ่นกับมัน ผมขยายธุรกิจไปที่อินโดนีเซีย
เพื่อให้บริการกับผู้ร่ำรวยทั้งหลาย ชีวิตมันช่างสวยงามจริง ๆ
: ทีนี้ผมทำกับเงินที่หามาได้ มากมายก่ายกองนั่นยังไง?
ผมซื้อรถหรูๆ ขับไปถึงมาเลเซียโน่น เพื่อไปแข่งรถในสนามแข่ง
เงินยังเหลืออีกเยอะ ผมซื้อ Ferrari ครับ รุ่นเปิดประทุนได้ด้วย
: พอได้รถแล้วทำอะไรอีก? ถึงเวลาที่ต้องซื้อบ้านแล้ว
ผมก็สร้างคฤหาสน์หลังใหญ่ ผมอยู่ท่ามกลางสังคมของคนร่ำรวย
และมีชื่อเสียง ร้านอาหารก็ต้องระดับ Michelin เท่านั้น
: ตอนนั้นผมถึงจุดที่ได้ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตแล้ว ผมคิดไปว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายในการควบคุมของผม และผมถึงยอดเขาแล้ว
: แต่.ผมผิดถนัดครับ ปีที่แล้วเดือนมีนาคม ผมเริ่มรู้สึกเจ็บตรงกลางหลัง
ตอนนั้นคิดไปว่าอาจจะออกกำลังกายมากเกินไป ผมจึงไปโรงพยาบาล
ผมทำ MRI เพื่อดูว่าอาจจะมีหมอนรองกระดูกหลังเคลื่อนหรือเปล่า.
: เย็นวันนั้น เพื่อนผมโทรมาบอกว่า “กระดูกสันหลังของนาย
ดูเหมือนจะมีเนื้องอกอะไรบางอย่างนะ” ผมตอบไปว่า
“ว่าไงนะ มันหมายความว่ายังไง?” อันที่จริงผมรู้ความหมายดี
แต่ไม่ยอมรับความจริง สุดท้ายก็สรุปว่าผมเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย
มะเร็งลามไปสมอง ไปกระดูกสันหลัง ไปตับและต่อมหมวกไตเรียบร้อยแล้ว

: พวกคุณลองคิดดู ผมคิดว่าผมควบคุมทุกอย่างในชีวิตได้
ผมถึงจุดสูงสุดในชีวิตแล้ว แต่ฉับพลันผมก็สูญเสียมันไปในทันที
ถึงแม้จะให้เคมีบำบัดอย่างเต็มที่ ผมก็จะอยู่ได้เต็มที่ประมาณ
3-4 เดือนเท่านั้น เหมือนฟ้าถล่มดินทลายทับตัวผมมั้ยครับ
: ผมมีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรงเป็นเดือน ชีวิตผมหมดสิ้นแล้ว
น่าขำที่ว่าสิ่งต่างๆ ที่ผมมี ความสำเร็จเอย ถ้วยรางวัลเอย รถหรูๆเอย
คฤหาสน์เอย ทั้งหมดนั้นผมคิดไปว่ามันจะนำความสุขมาให้ผม
แต่ในยามที่ผมตกอยู่ภาวะซึมเศร้า หดหู่ใจ สิ่งต่างๆ ที่ผมมี
มันกลับไม่ทำให้ผมมีความสุขได้เลย ตลอด10 เดือนที่ผ่านมา
มันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงเลย
: สิ่งที่นำความสุขมาให้ผมในช่วง10 เดือนสุดท้าย
กลับเป็นการได้พบปะกับผู้คน ได้พบกับคนที่ผมรัก เพื่อนๆ
ผู้คนที่เป็นห่วงเป็นใยผมอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้ต่างหาก
ที่นำความสุขมาให้ผม ไม่ใช่สมบัติที่ผมครอบครอง
: ตรุษจีนใกล้จะมาถึงแล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมจะขับรถหรูของผม
ไปทำงาน ไปเยี่ยมบรรดาญาติของผม เพียงเพื่อจะอวดร่ำ อวดรวย
ผมเองก็บันเทิงกับเรื่องแบบนี้เสียด้วย แต่มานึกแล้ว เพื่อนๆของผม
ญาติๆ ของผม คงจะกระอักกระอ่วนใจและคงอยากจะให้ผม
กลับไปเสียเร็วๆ มากกว่า เขาคงไม่คิดจะดีใจไปกับผม
และคงอยากให้ผมไปให้พ้นๆ คงอยากให้ผมลองนั่งรถเมล์ดูมั่ง
จริงๆ แล้ว สิ่งที่ผมทำลงไป ทำให้พวกเขาอิจฉาริษยาสิ่งที่ผมมี
และบางทีก็คงนึกหมั่นไส้ผมอีกด้วย
: นั่นแหละที่เรียกว่า “ตัวสร้างความอิจฉาริษยา”
ผมไปอวดร่ำอวดรวย เพียงเพื่อจะเติมเต็มอัตตา
และความยะโสของตัวเอง มันไม่ได้นำความสุขมาให้ผู้อื่นเลย
ผมคิดไปเองว่าพวกเขาจะมีความสุขไปกับผม

: ผมจะเล่าเรื่องๆ หนึ่งให้ฟัง ตอนที่ผมมีอายุพอๆกับพวกคุณ
ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่มีนิสัยแปลก เธอชื่อ Jennifer
ตอนนี้เราก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันอยู่ เวลาผมเดินไปตามทางกับเธอ
ถ้าเธอเห็นหอยทาก คลานอยู่ในทางคนเดิน
เธอจะคอยหยิบพวกหอยทากนั่นไปวางในสนามหญ้า ให้พ้นจากทางเดิน
ผมถามเธอว่า เธอทำอย่างนั้นทำไม ทำให้มือสกปรกเปล่าๆ
มันก็แค่หอยทากตัวหนึ่ง ความจริงก็คือ เธอเข้าใจหอยทากได้
ความรู้สึกที่ว่า ถูกเหยียบบี้แบนจนตายนั้น เธอรับรู้ได้
แต่สำหรับผม มันก็แค่หอยทาก
: ที่ ที่สอนผมให้เป็นแพทย์ เขาสอนผมให้เป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจ
ให้เป็นคนที่เข้าใจผู้อื่น แต่ผมกลับไม่เป็นอย่างนั้นเลย.
ตอนที่ผมเป็นแพทย์ประจำบ้าน ทำงานอยู่ในแผนกรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ทุกเมื่อเชื่อวัน วันแล้ววันเล่า ผมพบเจอกับความตาย
ยามที่ผมมองคนไข้กำลังทุกข์ทรมาน ผมเห็นแค่ว่าพวกเขากำลังปวด
และผมมีหน้าที่ให้ Morphine แก่พวกเขา เพียงเพื่อระงับอาการปวด
ผมเห็นพวกเขากำลังดิ้นรนหายใจ จนถึงลมหายใจเฮือกสุดท้าย
นั่นเป็นเพียงภาระหน้าที่ ผมทำงาน ทำหน้าที่จนเสร็จ
แต่ละวัน ผมแทบจะรอกลับบ้าน แทบไม่ไหว
: ความเจ็บปวดคืออะไรหรือครับ? เรามีศัพท์เทคนิคต่างๆ
ในการนิยามในการวัดความปวด ความทุกข์ทรมานเหล่านั้น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมไม่รู้ซึ้งจริงๆ ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร
จนกระทั่งผมกลายมาเป็นผู้ป่วยเสียเอง ตอนนี้ผมเข้าใจมันอย่างถ่องแท้
และถ้าคุณจะถามผมว่า ผมจะเปลี่ยนไปเป็นแพทย์อีกคน
ที่แตกต่างไปจากนี้หรือเปล่า ถ้าผมกลับมีชีวิตอีกครั้ง
ผมตอบได้เลยว่าใช่ ผมจะเปลี่ยนไปแน่นอน
เพราะผมรู้แล้วว่าผู้ป่วยเหล่านั้น รู้สึกอย่างไร
และบางทีเราก็ควรจะเรียนรู้สิ่งนี้ จากของจริง

: แม้ว่าพวกคุณจะเพิ่งเริ่มเรียนปีแรก และเข้าสู่เส้นทางของการ
เป็นศัลยแพทย์ช่องปาก ผมอยากจะลองท้าทายคุณ 2 เรื่อง
:: ประการแรก หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทุกคนในที่นี้ จะต้องเข้าไปสู่ธุรกิจ
โรงพยาบาลเอกชน พวกคุณจะเริ่มสะสมความมั่งคั่ง รับประกันได้เลยครับ
แค่ใส่ Implant สักอัน คุณก็ได้เงินเป็นพันๆ ดอลลาร์แล้ว
ช่างน่ามหัศจรรย์ใช่มั้ยครับ จริงๆ แล้วไม่ผิดหรอกครับ
ที่จะประสบความสำเร็จ ไม่ผิดที่จะร่ำรวยมั่งคั่ง ไม่ผิดเลย
ปัญหาประการเดียวก็คือ พวกเราส่วนใหญ่รวมทั้งตัวผมด้วย
ไม่สามารถควบคุมจัดการมันได้
: ทำไมผมพูดอย่างนั้น ก็เพราะเมื่อผมเริ่มสะสมเงินทอง
ยิ่งผมมีมากเท่าไร ผมก็ยิ่งอยากมีมากขึ้นเท่านั้น
ยิ่งต้องการอะไรมาก เราก็ยิ่งหมกมุ่นอยู่กันมัน
เพื่อที่จะให้ไปถึงจุดสูงสุด
เหมือนกับที่สังคมทำกับเรา เหมือนกับที่สังคมอยากให้เราเป็น
เมื่อผมหมกมุ่นอยู่กับมันแล้ว อะไรอื่นก็ไม่มีความหมาย
สำหรับผมอีกต่อไป คนไข้ที่เดินเข้ามาก็เพียงแค่ถังเงิน
และผมก็จะรีดเงินออกจากคนไข้พวกนี้ จนถึงหยดสุดท้าย
: นานมากแล้วที่เราหลงคิดไปว่า เราจะต้องเป็นฝ่ายรับ
สิ่งนี้มันเกิดขึ้นกับผมมาแล้ว ไม่ว่าจะในวงการแพทย์ วงการทันตแพทย์
ผมบอกได้เลย ขณะนี้ในภาคเอกชน บางครั้ง
เราถึงกับให้คำแนะนำกับผู้ป่วย เพื่อให้รับการรักษา
หรือการผ่าตัดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ มันเป็นพื้นที่สีเทา
และแม้ว่าบางเรื่องมันจะไม่จำเป็นเลย เราก็ยังแนะนำคนไข้ให้ทำ
และถึงตอนนี้ ผมก็รู้ว่าใครบ้างที่หวังดีกับผมอย่างแท้จริง
และใครบ้างที่หลอกเอาเงินผมโดยการเสนอ “ความหวัง” ให้ผมอยู่
เราสูญเสียเข็มทิศทางจริยธรรม (moral compass) ไปเรื่อยๆ
ตลอดเส้นทางสายนี้ เพียงเพราะว่าเราต้องการ make money
: ที่แย่ไปกว่านั้น ผมบอกได้เลย 2-3 ปีที่ผ่านมานี้
เราพูดให้ร้ายเพื่อนร่วมวิชาชีพของเรากันเอง เสมือนเป็นคู่แข่ง
ในธุรกิจเดียวกัน ถ้าเราสามารถจะกดคนอื่นลง
เพื่อให้เราได้ผลประโยชน์แล้วละก็ เราก็จะทำมันทันที
นั่นคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ ในวงการแพทย์ และทุกๆ วงการ
สิ่งที่ผมจะเตือนคุณก็คือ อย่าทิ้งเข็มทิศทางจริยธรรมไปเป็นอันขาด
ผมเรียนรู้สิ่งเหล่านี้มาอย่างยากลำบาก
และหวังว่าพวกคุณจะไม่เป็นเช่นนั้น
:: ประการที่สอง พวกเราหลายคนด้านชากับคนไข้ของเรา
ในยามที่เรารักษาพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชน
ถามว่าผมรู้ไหมว่า คนไข้แต่ละคนรู้สึกอย่างไร?
ผมไม่รู้หรอก ความหวาดวิตกกังวลต่างๆ ที่พวกเขามี
จนกระทั่งมันเกิดขึ้นกับตัวผมเอง
ตอนนี้ผมกำลังได้รับเคมีบำบัดรอบที่ 5 อยู่
ผมบอกได้เลยว่ามันเลวร้ายมาก เคมีบำบัดเป็นหนึ่งในสิ่งที่คุณ
ไม่อยากจะประสบ เพราะมันช่างทุกข์ทรมาน ทุเรศทุรัง
ผมกำลังจะบอกให้คุณไปหาคนไข้ คนถัดไปของคุณ
มองเขาในฐานะมนุษย์ที่มีความเจ็บปวดและกำลังทุกข์ทรมาน
อย่าได้คิดว่าคนยากจนเท่านั้นที่จะทุกข์ นั่นไม่จริงเลย
คนยากคนจนทั้งหลายจริงๆ แล้ว เขาพอใจในสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่
พวกคุณควรจะรู้ไว้ด้วยว่าพวกเขามีความสุข มากกว่าคุณและผมเสียอีก
: ผมอยากจะจบการบรรยายด้วย ประโยคนี้
มันมาจาก หนังสือเรื่อง Tuesdays with Morrie

Everyone knows that they are going to die;
every one of us knows that.
The truth is, none of us believe it because if we did,
we will do things differently.

: เมื่อผมเผชิญหน้ากับความตาย ผมได้ลอกคราบตัวเองออกทั้งหมด
เหลือไว้เพียงสิ่งที่สำคัญที่สุดเท่านั้น ที่น่าขำก็คือ
เมื่อเราเรียนรู้ว่าเราจะตายอย่างไร นั่นแหละเราถึงจะเรียนรู้ว่า
เราจะมีชีวิตอย่างไร ผมรู้ว่ามันออกจะเคร่งเครียดไปหน่อย
แต่นั่นคือความจริงครับ นี่คือสิ่งที่ผมได้ประสบมา
: อย่าให้สังคมบอกคุณว่าคุณจะใช้ชีวิตอย่างไร
อย่าให้สื่อต่างๆ บอกคุณว่าคุณควรจะทำอะไร
สิ่งเหล่านั้นเคยเกิดขึ้นกับผมมาแล้ว ผมปล่อยให้ชีวิตผม
จมไปกับความคิดที่ว่าสิ่งเหล่านี้จะนำความสุขมาให้
ผมหวังว่าคุณจะใคร่ครวญกับเรื่องนี้ และตัดสินใจเลือกว่า
จะใช้ชีวิตของคุณเองอย่างไร ไม่ใช่เพราะคนอื่นบอกให้คุณทำ
คุณต้องตัดสินใจว่า คุณจะให้เฉพาะแต่ตัวคุณเอง
หรือจะสร้างความแตกต่างขึ้น ในชีวิตของผู้อื่น
เพราะความสุขที่แท้จริง ไม่ได้มาจากการให้อะไรกับตัวเอง
ผมเคยคิดว่ามันเป็นเช่นนั้น แต่มันกลับไม่เป็นอย่างนั้นเลย

14 พ.ค. 2557

เก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ข้าวสินเหล็ก

วันนี้เด็กนักเรียน ม.1 ไปเกี่ยวข้าวสินเหล็กคนละ 1 กำมือ เพื่อนำข้าวไปคัดเลือกเมล็ดพันธุ์เพียง 4 เมล็ด
 เตรียมปลูกที่แปลงนา(ท่อ)ทดลองของนักเรียนแต่ละคน 
หลังจากที่เด็กๆ ได้ต้นข้าวมาคนละ 1 กำมือ ก็นำมาตากแดดเพื่อให้เมล็ดพันธ์แห้ง โจทย์ที่ครูใหญ่ฝากไว้ให้กับเด็กๆ ก็คือ..

"ปลูกข้าว 4 เมล็ด ให้ได้ 2,000 เมล็ด"

        ข้าวสินเหล็กได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิล กับข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวสีขาวที่มีกลิ่นหอม รูปร่างเมล็ดเรียวยาว ไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ตลอดทั้งปี มีความต้านทานต่อโรคไหม้ข้าวสินเหล็กในฐานะเป็นข้าวหอมนุ่มที่มี ดัชนีน้ำตาลต่ำ-ปานกลาง เมื่อนำมาทดลองบริโภคในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน พบว่าการบริโภคข้าวกล้องสินเหล็ก ช่วยแก้ปัญหาเบาหวานได้ ทำให้สภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin) ลดลงและการทำงานของตับอ่อนดีขึ้น รวมทั้งทำให้ค่าเฉลี่ยของไตรกลีเซอร์ไรด์ (triglyceride) ลดลง นอกจากนี้ข้าวสินเหล็กยังมีธาตุเหล็กในเมล็ดสูง

    ข้าวพันธุ์นี้ได้ผ่านการประเมินคุณสมบัติความเป็นประโยชน์ของธาตุเหล็ก ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ และในมนุษย์ โดยพบว่าการส่งเสริมการบริโภคข้าวสินเหล็กในเด็กนักเรียนที่มีภาวะพร่องธาตุเหล็ก ทำให้ระดับ
ฮีโมโกลบิน (hemoglobin) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ข้อมูล ข้าว รร.นอกกะลา

13 พ.ค. 2557

พัฒนางานสอนคณิตศาสตร์

     คณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความคิดมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ มีแบบแผน สามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือสถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ ช่วยให้คาดการณ์ วางแผน ตัดสินใจ แก้ปัญหาได้ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์อื่นๆ

เป้าหมายการเรียนรู้
โดยสาระสำคัญของการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มีการจัดการเรียนรู้เพื่อเป็นพื้นฐาน ในการเรียนศาสตร์อื่น ที่มีความยากมากยิ่งขึ้นและ เพื่อสร้างกระบวนการคิดเชิงตัวเลข


กระบวนการเรียนรู้
- นักเรียนแต่ละคนวิเคราะห์โจทย์ปัญหาหรือสถานการณ์ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น โดยโจทย์ปัญหาหรือ
สถานการณ์อาจมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หรือสถานการณ์จำลองก็ได้
- นักเรียนแต่ละคนจะได้แสดงความคิดเห็น อธิบายการวิธีคิด ให้เพื่อนๆ และคุณครูฟัง (Black Broad Share)
- คุณครูและนักเรียน เรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับกระบวนการคิดที่เกิดขึ้น พร้อมแสดงความคิดเห็น และวิเคราะห์เพื่อจัดระบบข้อมูลที่เกิดขึ้น ในกระบวนการนี้ เป็นกระบวนการที่สำคัญ เพราะนักเรียนแต่ละคนจะมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน แต่ได้คำตอบเดียวกัน ซึ่งคุณครูจะให้นักเรียนได้วิเคราะห์โจทย์ที่มีระดับความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยโจทย์ที่ให้นั้นจะต้องมีความหลากหลายของกระบวนการหาคำตอบ และท้าทายต่อกระบวนการคิดของนักเรียนเป็นสำคัญ
- การจับสื่อจริง เป็นขั้นตอนกระบวนการหนึ่งที่จัดอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญเนื่องจากจะช่วยให้นักเรียนเกิดภาพในสมองที่เป็นรูปธรรมแล้ว ยังช่วยให้ได้พัฒนาทักษะด้านต่างๆ อาทิเช่น ทักษะการคิดและทักษะนำเสนอ
- นักเรียนแต่ละคนได้ออกแบบโจทย์ใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่ครูผู้สอนสามารถสังเกตได้ว่า นักเรียนแต่ละคนมีความเข้าใจต่อกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างไร เนื่องจากการออกแบบโจทย์ใหม่ จะต้องใช้ทักษะความเข้าใจที่เกิดขึ้นในกระบวนเรียนรู้ที่ผ่านมา มาปรับประยุกต์ใช้
- นำไปใช้จริงในชีวิตประจำวันและเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆ เช่น การใช้ในการวิเคราะห์ หรือคำนวณต่างๆในวิชาอื่นๆ

การสอนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา : การสอนคณิตศาสตร์เพื่อมุ่งให้เกิดทักษะที่สำคัญ ได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving), ทักษะการมองเห็นภาพหรือรูปแบบที่ซ่อนอยู่ (Patterning), ทักษะการคิดสร้างสรรค์และการให้เหตุผล (Creative Thinking and Reasoning) และทักษะการสื่อสาร (Communication) เพื่อให้เกิดความร่วมมือและพบวิธีหรือคำตอบเอง (Meta cognition)


การสอนจึงให้ความสำคัญที่เข้าใจความคิดรวบยอดก่อน และค้นหาวิธีที่หลากหลายร่วมกัน วิธีการที่ได้จึงเป็นคำตอบที่สำคัญกว่าคำตอบจริงๆ โดยใช้ขั้นของการสอนดังนี้

ชง หมายถึง ขั้นที่ครูตั้งคำถาม ตั้งโจทย์ หรือโยนปัญหาให้ผู้เรียนได้เผชิญ ผู้เรียนจะได้คิดและการลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหานั้นด้วยตนเอง

เชื่อม หมายถึง การนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนวิธีแก้โจทย์ปัญหาของแต่ละคน ครูไม่จำเป็นต้องตัดสินว่าวิธีใดถูกหรือผิด เพราะสุดท้ายเมื่อมีการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้นนักเรียนแต่ละคนจะเห็นมุงมองที่หลากหลาย เห็นช่องโหว่ของบางวิธี ได้ตรวจสอบวิธีแต่ละวิธี และในที่สุดจะรู้คำตอบเอง สามารถเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่ตัวเองเข้าใจไปใช้ได้ นี่เป็นทักษะของการรู้ตัว รู้ว่าตัวเองรู้หรือไม่รู้(Meta cognition) เป็นทักษะที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเองต่อไป ในขั้นนี้ครูแค่ตั้งคำถาม “ใครได้คำตอบแล้ว?” “มีวิธีคิดอย่างไร?” “ใครมีวิธีอื่นบ้าง?” “คุยกับเพื่อนว่าเห็นอะไรที่คล้ายกันหรือแตกต่างกันบ้าง” ครูที่เก่งจะไม่ผลีผลามบอกคำตอบแต่จะเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนพบคำตอบ คำตอบที่เราต้องการจริงคือวิธีการ ในขั้นตอนนี้ ผู้เรียนจะได้พัฒนาทักษะทั้งหมด ทั้งทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving), ทักษะการมองเห็นภาพหรือรูปแบบที่ซ่อนอยู่ (Look for the Pattern), ทักษะการคิดสร้างสรรค์และการให้เหตุผล (Creative Thinking and Reasoning) และ ทักษะการสื่อสาร(Communication) เพื่อให้เกิดความร่วมมือและพบวิธีหรือคำตอบเอง (Meta cognition)

ใช้ หมายถึง ขั้นของการให้โจทย์ใหม่ที่คล้ายกัน หรือยากขึ้น หลังจากที่ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาจากขั้นตอนที่ 2 แล้ว เพื่อให้นักเรียนแต่ละคนได้ประลองเอง จะได้สร้างความเข้าใจให้คมชัดขึ้น ครูจะได้ตรวจสอบอีกรอบว่าเด็กแต่ละคนเข้าใจมากน้อยเพียงใด
............................................
ปีนี้ครูที่รับผิดชอบงานสอนคณิตศาสตร์ โดยแบ่งกันแต่ละช่วงชั้น ครูช่วงชั้นที่ 1 : ครูกลอย , ช่วงชั้นที่ 2 : ครูเหมียว , ครูมัธยมแบ่งเป็นครูประจำชั้นสอน ร่วมกับPBL
   ครูคณิตแต่ละคนวางรูปแบบแผนงานของตนเอง เพื่อพัฒนางานสอนแต่ละหน่วย จัดทำLesson study เพื่อเผยแพร่นวัตกรรมงานสอน

12 พ.ค. 2557

เรื่องเล่าเร้าพลัง 1 - คุณ(มี)ค่า

ทุกครั้งที่ผมเจอเรื่องเล่าดีๆ ผมจะเก็บบทความนั้นในความจำ เพื่อนำไว้ไปใช้ในการเล่าให้เด็กๆ ฟังในช่วงว่างๆ หรือก่อนสอนหนังสือ ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นไม่ได้สูญเสียไปเปล่าๆ กับความทรงจำของผมคนเดียว 
การที่ครูนำเรื่องราวต่างๆ ไปสนทนากับเด็กๆ ครูจะไม่สรุปว่าเรื่องนี้สอนอะไรแก่พวกเข้า  เด็กๆ แต่ละคนต้องตีความบทความเหล่านั้นเอง บางคนอาจจะโดนกับเรื่องนั้น ณ ขณะเวลานั้นจริงๆ 

 - การที่ผมนำบทความความดีๆ มาถ่ายทอดลงในบล๊อกนี้ ก็เพื่อให้ครูที่เข้ามาเจอได้นำไปใช้ประโยขน์กับลูกศิษย์ของท่าน และบทความมากมายผมจำไม่ได้ บางหนมีเวลาเข้ามาอ่านเรื่องราวเดิมต่างๆ ที่ผมเคยลงไว้ เป็นการทบทวนความรู้อันทรงคุณค่าครับ

....................................................................................

อาจารย์คนนึง เริ่มการสนทนาในชั้นเรียนด้วยการควักธนบัตรใบละ 1,000 บาท ออกมาให้นักศึกษาดู แล้วถามว่า... 
"มีใครอยากได้บ้างไหม"
นักศึกษาทุกคนรีบยกมือ..

อาจารย์ขยำธนบัตรนั้น 'จบยับยู้ยี่'
แล้วถามอีกครั้งว่า...
"มีใครยังอยากได้ธนบัตรใบนี้อีกหรือไม่"
นักศึกษาทุกคนก็ยังยกมือขึ้นเหมือนเดิม...

อาจารย์ถามต่ออีกว่า
"ถ้าสมมุติว่า ธนบัตรใบนี้ถูกทิ้งอยู่บนพื้น แล้วมีคนมาเหยียบย่ำจนสกปรก ยังจะมีใครอยากได้อีกหรือไม่"
...นักศึกษาทุกคน ก็ตอบว่ายังอยากได้.....

อาจารย์จึงกล่าวสรุปว่า...
"นั้นคือสิ่งมีค่า" ที่พวกเธอได้เรียนรู้ในวันนี้ ไม่ว่าจะเธอจะทำอะไรกับธนบัตรใบนี้ มันก็ยังคงจะมีราคา 1,000 บาท อยู่เสมอ ชีวิตคนเราก็เช่นเดียวกัน บางครั้ง เราอาจจะถูกทอดทิ้ง ถูกใครต่อใคร ซ้ำเติม, เหยีบย่ำ, ถูกขยี้, ยับเยิน เพราะความผิดพลาดในการก้าวเดินของชีวิต จนทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเอง

'ไร้ค่า'

แต่รู้อะไรไหม???
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เธอก็ยังมี
'คุณค่าของความเป็นคน'
ไม่ว่าเธอจะสะอาดเอี่ยม หรือว่า ยับยู้ยี่

"ตัวเราก็ยังมีค่าที่สุดเสมอ" จำไว้

ลีโอ ตอลสตอย - slideshare

                    นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ลีโอ ตอลสตอย

9 พ.ค. 2557

Active Learning

 ผมได้อ่านบันทึกของหมอวิจารย์ แล้วรู้สึกว่าอาจจะเป็นประโยชน์แก่ครู..

ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เกิดขึ้นเองในตัวเด็กเมื่อจัดการเรียนรู้แบบ active learning ให้เด็กลงมือทำ ตามด้วยการคิดไตร่ตรอง(reflection)



ครูในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องทำหน้าที่จัดการการเรียนรู้ของศิษย์ มากกว่าทำหน้าที่สอนอย่างในอดีตความรู้ที่นักเรียนต้องเรียนอยู่ใน อินเทอร์เน็ตไม่ใช่อยู่ในหัวครู หรือในตำราเล่มใดเล่มหนึ่ง อีกต่อไป

กล่าวอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า ความรู้ด้านเนื้อหาวิชาไม่มีความสำคัญในการทำหน้าที่ครูเนื้อความรู้สำคัญยิ่งต่อครูแต่ความเอาใจใส่ศิษย์สำคัญยิ่งกว่าเอาใจใส่กระบวนการเรียนรู้ของศิษย์ที่ศิษย์พัฒนาการเรียนรู้ขึ้นภายในตนเองเป็นสุดยอดการทำหน้าที่ของครู

ครูต้องทำงานร่วมกับ “ภาคีนักการศึกษา” (co-educator) ที่หลากหลาย (ตามที่ระบุใหนบันทึกที่แล้ว) จากนอกโรงเรียน มาช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์เพื่อให้ศิษย์ได้เรียนรู้แบบลงมือทำ (active learning) เป็นหลัก

ต่อไปนี้เป็นทักษะของครูในศตวรรษที่ ๒๑ ที่หนังสือเล่มนี้เสนอ
ความเข้าใจว่า การเรียนรู้แบบโครงงานที่จริงจัง จะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจระดับลึก ที่นักเรียนจดจำไปนาน
ความสามารถจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน ให้เกิดการเรียนรู้/ทำงาน แบบร่วมมือกันเป็นกลุ่มมากกว่าต่างคนต่างเรียน/ทำงาน
ความรู้ความเข้าใจว่า เทคโนโลยีช่วยส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไรโดยครูไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องเทคโนโลยีทั้งหมด
ความสามารถในการทำงาน เป็น “ทีมจัดการเรียนรู้” กับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ กับเพื่อนครู และกับพ่อแม่ ทั้งโดยการพบหน้ากัน และโดยความร่วมมือผ่านช่องทาง ออนไลน์
ริเริ่มการหาทรัพยากรการเรียนรู้เพื่อสร้างความมีชีวิตชีวาในห้องเรียนเช่น ทรัพยากรการเรียนรู้ ออนไลน์สถานที่เรียนรู้ในพื้นที่ (เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ บริษัท โรงละคร/ภาพยนตร์ มหาวิทยาลัย ป่าสงวนแห่งชาติ ฯลฯ)
ริเริ่มการพัฒนาตนเอง และเพื่อนครู (Professional Development) พัฒนาเป็นชุมชน การเรียนรู้ของครู (PLC – Proefessional Learning Community) โดยมีความยืดหยุ่นต่อปัจจัยต่างๆ ในโรงเรียน และในเขตพื้นที่การศึกษา
ความสามารถในการแสวงหาความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากศิษย์ ในการพัฒนา Technology-Based Learning ให้แก่ศิษย์
เข้าใจว่า การเชื่อมโยงปัจจัยด้าน สังคม-อารมณ์ มีความสำคัญต่อการเรียนรู้เนื้อหาวิชา ของศิษย์
มีไฟในการจัดการเรียนรู้แก่เด็กและวัยรุ่น ในสภาพความสัมพันธ์ที่เอาใจใส่เมตตากรุณา

หนังสือเล่มนี้เสนอคุณวุฒิของผู้จะมาเป็นครู

""" หมอวิจารย์ตีความจากการอ่านหนังสือ Education Nation : Six Leading Edges of Innovation in Our Schools เขียนโดย Milton Chen
...........................................................................

 ดูเพื่อเรียนรู้ อาจจะได้นำไปใช้ในบางเหตุการของ "ครู" นะครับ

6 พ.ค. 2557

play it forward - โลกสวยด้วยการให้

เรื่องราวการให้ของนักเรียนชั้นประถม 6 จากภาพยนตร์เรื่อง "play it forward" เป็นเรื่องปฏิกิรินาลูกโซ่ของการให้ เป็นภาพยนตร์ที่ให้ข้อคิดอย่างน่าประทับใจยิ่ง
ในวิชาสังคมศาสตร์ คุณครูซิมโฟเนตให้การบ้านทั้ง 1 ปีด้วยโจทย์ 1 ข้อคือ "ให้คิดหาทางเปลี่ยนโลกแล้วนำไปปฏิบัติ"
แทรเวอร์ หนูน้อยชั้นประถม 6 ได้คิดวิธีการเปลี่ยนโลก โดยการช่วยเหลือคน 3 คน และคนที่ถูกช่วยก็ไปช่วยคนอีก 3 คนเป็นทอดๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งแทรเวอร์ได้ใช้คำว่า "การจ่ายล่วงหน้า"

แผนงานการคิดเปลี่ยนแปลงโลกของแทรเวอร์ได้ถูกนำไปปฏิบัติทันที เรื่อง "การจ่ายล่วงหน้า" ขยายวงไปอย่างกว้างขวางจากเมืองหนึ่งสู่อีกเมื่อหนึ่งและเป็นไปอย่างรวดเร็ว จากรัฐหนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง
จนนักข่าวผู้หนึ่งได้ใช้ความพยายามติดตามต้นตอของเรื่องการจ่ายล่วงหน้า พบว่าเป็นแนวคิดของแทรเวอร์
ในช่วงท้ายของเรื่อง แทรเวอร์เห็นอดัมกำลังถูกรังแกจากแก๊งวันรุ่น เขาตัดสินใจเข้าไปช่วย แต่โชคร้ายแทรเวอร์ถูกแทงจนเสียชีวิต
มีคนจากเครือข่ายที่ได้รับการช่วยเหลือจากแนวความคิดเรื่องการจ่ายล่วงหน้านับหมื่นนับแสนคน หลั่งไหลกันมาร่วมงานศพของแทรเวอร์ "ผู้เปลี่ยนแปลงโลกให้สวยงามโดยการให้"

โลกสวยด้วยการให้

Have you heard? คุณเคยได้ยินไหม..
ว่าเมื่อเราให้สิ่งใดกับใครไป เท่ากับว่าเราได้ส่งสิ่งนั้นให้กับคนอื่นๆต่อไปอีกสามคน ต่อมาคนสามคนที่ได้รับจากเรา ก็ส่งมอบต่อไปยังคนอีกสามคนของเขา เเละจะเพิ่มทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวน “ผู้ให้” และในแต่ละวันคนเหล่านั้นทุกคนจะส่งผ่านการให้ต่อไปอีกสามคน เป็นอย่างนี้เรื่อยๆเป็นคลื่นกระเพื่อมของความดี


"Pay it Forward"
ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่ง ที่คิดทฤษฎีเปลี่ยนแปลงโลกขึ้นมา!!! ที่น่าสนใจคือ ทฤษฎีนี้ง่ายมากๆ โดยการเริ่มที่ตัวเองก่อนเริ่มที่จะช่วยเหลือคนรอบข้าง เช่น แม่ ครู และคนข้างถนน จนในที่สุดก็เกิดกระแสแห่งความดีกระเพื่อมไปทั่วทั้งประเทศ ...

เกี่ยวกับผู้เขียน "Pay it Forward" Catherine Ryan Hyde ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ว่า เกิดจากเหตุการณ์จริงที่ประสบกับตัวเธอเมื่อประมาณกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว
"... กลางดึกคืนหนึ่งฉันขับรถอยู่บนถนนสายเปลี่ยว แล้วรถเกิดเสียขึ้นมา มีควันเข้ามาในรถ
ภายใต้ความตกใจกลัว...
ฉันเห็นชายสองคนเดินเข้ามา ในใจคิดว่าเขาจะมาปล้นหรือทำร้าย ปรากฎว่าเขาเข้ามาช่วยดูรถให้ และช่วยชีวิตฉันจากการระเบิดของเครื่องยนต์ รวมทั้งตามหน่วยกู้ภัยมาให้...
และขณะที่ฉันกำลังพูดคุยอยู่กับเจ้าหน้าที่กู้ภัยอยู่นั้น ฉันก็พยายามมองหาชาย ๒ คนนั้นเพื่อจะกล่าวคำขอบคุณ แต่ก็ไม่เห็นพวกเขาเสียแล้ว...
ฉันเองอยากจะตอบแทนพวกเขา แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
ตั้งแต่นั้นมาฉันจึงคอยมองผู้คนรอบข้างที่ต้องการความช่วยเหลือ และช่วยเหลือพวกเขา...

ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนคนแปลกหน้าที่ ๒ คน ที่เขาเคยช่วยฉันในคืนนั้นนั่นเอง..."

4 พ.ค. 2557

งานเป็นดอกไม้งามของชีวิต 5

ทุกๆ ปีก่อนเปิดเรียนปีการศึกษาหน้า ครูนอกกะลาทุกคนจะช่วยกันปรับภูมิทัศน์เตรียมเปิดเรียน 2557 
 กำลังใจ - ความพยายาม - การแบ่งปัน 
ความงาม - อิสะ - รื่นรมย์

   เสียงหัวเราะ - มิตรภาพ - ความสุข


เป็นช่วงเวลาตลอด 1 วัน ที่ครูทุกคนได้บรรเลงงานศิลป์

3 พ.ค. 2557

อบรม "ศิลปะเพื่อชีวิต และอิสระภาพคนรุ่นใหม่"

   กิจกรรมการพัฒนาครูนอกกะลาปีการศึกษานี้ ต่อจากอบรมโยคะ คุณครูทุกคนได้อบรม "ศิลปะเพื่อชีวิต และอิสระภาพคนรุ่นใหม่" กับกระบวนกรทั้ง 4 ท่าน ตลอด 3 วัน  อบรมเพื่อนตัวป่วน(นิวรณ์5)

นิวรณ์5 - วิธีจัดการกับเพื่อนตัวป่วนทั้ง 5 โกรธ อยาก เหงา ฟุ้งซ่าน ลังเล

วันแรก

วันที่สอง
  •  เป๋ายิ่งชุบพัฒนาการ 
  •  การเรียนรู้ตัวเอง/ การรู้จักตนเอง
 เพื่อให้เราได้เรียนรู้ และได้รู้จักตนเอง เช่น บุคลิกภาพ จุดแข็ง จุดอ่อน ลักษณะเด่น และส่วนที่เราควรปรับปรุง แต่สิ่งที่สำคัญคือเราจะมีเทคนิคอย่างไรที่จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นและสามารถทำงานร่วมกันกับผู้อื่นที่มีได้อย่างมีความสุข
ตัวอย่างกิจกรรม - แบ่งกลุ่ม 4 ทิศ
1. กระทิง: ฐานกาย (อารมณ์โกรธ) ทิศเหนือ
2. หนู: อารมณ์ลังเล (ฐานใจ) ทิศใต้
3. เหยี่ยว: อารมณ์ฟุ้งซ่าน (ฐานหัว) ทิศตะวันออก
4. หมี: อารมณ์ฟุ้งซ่าน (ฐานหัว) ทิศตะวันตก
ให้แต่ละคนเลือกเข้ากลุ่มที่คิดว่าตัวเองมีบุคลิก หรือพฤติกรรมที่ใช่หรือใกล้เคียงที่สุด หลังจากนั้นสมาชิกในกลุ่มแสดงความคิดเห็น เรียนรู้พฤติกรรม หลังจากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้สนทนากลุ่มใหญ่เพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกันในแต่ละทิศ เพื่อหาแนวทางในการที่ทำให้ทิศทั้ง 4 สามารถที่จะเข้าใจ รู้เขารู้เรา และทำงานร่วมกันได้ เพื่อทำให้งานที่ทำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สิ่งที่ได้รับ - ทุกคนมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราต้องรู้จักที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รู้เขารู้เรา ยอมรับและเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น และปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นเพื่อให้เราสามารถทำงานหรืออยู่ร่มกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
  • เกมเป็ด
 เพื่อให้เกิดความสามัคคีในทีม มีการวางแผน และมีทักษะในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
  •  วาดภาพมหาสนุก
 เพื่อให้เราได้เรียนรู้ที่จะสื่อสารกับผู้อื่น คิดวางแผนเพื่อที่จะให้ผู้อื่นเข้าใจ เทคนิคในการส่งสาร ซึ่งเราทำอย่างไรที่จะทำให้คนที่รับสารจากเราเข้าใจ
  •  ให้ ให้ ให้ ไม่ให้ ให้
  •  กราฟชีวิต
การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต ทั้งที่เป็นความสุขและความทุกข์ของในแต่ละช่วงวัย เพื่อเป็นการเปิดใจและยอมรับฟังผู้อื่น

วันที่สาม
  •  อะมีบา 
  • เขียนทบทวนกิจกรรมที่ได้ทำมา 
 เบื้องหลังการจัดกระบวนการ -โดยมีการวางแผนจัดการกระบวนการดังนี้
1. เรียนรู้สภาวะภายใน + จึงวิธีการจัดการสภาวะ
2. การจัดกระบวนการเรียนรู้

การจัดสภาวะทางอารมณ์ (เพม่า โชดร์น)
1. การอุทิศตัว
2. การมีสติ
3. การยับยั้งชั่งใจ

หลักการจัดกระบวนการ
1. เตรียมความพร้อมละลายพฤติกรรม
- แนะนำตัว
- ทำป้ายชื่อ

2. กิจกรรม/ ตอบวัตถุประสงค์
- กงล้อสี่ทิศ
- ภาพวาดมหาสนุก
- ฟังด้วยใจ
- กราฟชีวิต
- ความรู้สึก

3. การถอดบทเรียน
4. การติดตามแบบเสริมพลัง
  • เกมกบ 
  • จัดดอกไม้/ จัดวาง 
เพื่อให้เราได้อยู่กับตัวเอง อยู่กับธรรมชาติ เข้าใจและรับรู้ความเป็นไปของธรรมชาติ 

ขอบคุณกระบวนกรทุกท่านที่มอบประสบการณ์ดีๆ แก่ครูนอกกะลาทุกคนครับ



2 พ.ค. 2557

What..? + Why...? + How.. ? : What's next....??

แผนพัฒนาครูปีนี้ ครูทุกคนได้ออกแบบกิจกรรมของตนเอง โดยครูหัวหน้างานแต่ละฝ่ายได้ประชุมหารือกับครูใหญ่ -- โดยครูใหญ่ มีคำไว้ให้ดังนี้
What..
Why...
How..

What's next....


1. จะทำอย่างไร?
1.1 จะทำอย่างไรเพื่อให้เข้าใจแนวทางของโรงเรียนด้านต่างๆ
  • ศึกษาความเคลื่อนไหวต่างๆ เกี่ยวกับข่าวสารของโรงเรียนฯ ศึกษาทั้งอดีตให้เข้าใจอย่างแท้จริง หากยังสงสัยก็ให้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ครู และเกาะติดสถานการณ์ความเคลื่อนไหวในปัจจุบัน อนาคต หาโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องชั้นเรียนกับครูหลายๆ ระดับชั้น เอาความเคลื่อนไหวกับนวัตกรรมการสอนใหม่ๆ ของเราไปแลกเปลี่ยนนำเสนอให้ครูดูรวมกันในที่ประชุม พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ

1.2 จะทำอย่างไรเพื่อให้เข้าใจและมีทักษะการออกแบบการเรียนรู้ เช่น จิตศึกษา PBL ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ
  • อ่านหนังสือเยอะๆ ให้หลากหลายแนว พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคุณครูในช่วงชั้น ร่วมกันออกแบบวางแผนการเรียนรู้พร้อมกัน และเสนอแนะแลกเปลี่ยนกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ 

1.3 จะทำอย่างไรเพื่อสร้างสัมพันธภาพในการทำงานระหว่าง ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคนงาน
  • ด้านครู สามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีงามได้ด้วยการใช้เวลาในช่วงต่างๆ เพื่อร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านต่างๆ อาทิเช่น การทำงาน การปรึกษาเรื่องต่างๆ การร่วมทำกิจกรรมของโรงเรียน หรือกิจกรรมนอกโรงเรียน เช่นการ ร่วมเล่นกีฬา การรับประทานอาหารร่วมกัน การร่วมประชุม เพื่อนำเสนอแนวคิดและรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ
  • ด้านนักเรียน สามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีงามได้ด้วยการพูด การร่วมเรียนรู้ผ่านกิจกรรมและให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าในและแนะนำทางเลือกเพื่อให้นักเรียนได้มองเห็นแนวคิดและมุมมองต่างๆที่แปลกใหม่ พร้อมทั้งเข้าใจในความเป็นตัวตนของนักเรียนแต่ละว่าเป็นอย่างไร เพราะทุกคนมีความแตกต่าง อีกทั้งต้องส่งเสริมด้านที่เขาถนัด เพื่อให้เป็นการพัฒนาได้อย่างอย่างมีความหมาย เข้าใจตนเอง
  • ด้านคนงาน สามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีงามได้ด้วยการการพูดคุย การร่วมทำกิจกรรมต่างๆ การให้กำลังใจกับเขา เพราะเขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนขององค์กร 

2. อะไรที่บ่งบอกว่าเราเข้าใจเรื่องนั้น?
2.1 ความเข้าใจแนวทางของโรงเรียนด้านต่างๆ
  • การรู้เป้าหมายใหญ่ร่วมกันกับครูทั้งองค์กร และการที่เราสามารถถ่ายทอดสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ให้ผู้อื่นรับรู้เข้าใจตามแนวทางของโรงเรียนฯ 

2.2 ทักษะการออกแบบการเรียนรู้ เช่น จิตศึกษา PBL ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ
  • สามารถถ่ายทอดความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านการเรียนรู้PBL คณิตฯ เด็กๆ เกิดทักษะอะไร โดยเรียนรู้ผ่านกระบวนการใด การเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ เป็นอย่างไรบ้าง และสามารถถ่ายทอดสู่คุณครูท่านอื่นให้เข้าใจ และสามารถนำกิจกรรมนวัตกรรมการสอนของเราไปปรับใช้ได้ ตามความเหมาะสมอ

2.3 การสร้างสัมพันธภาพในการทำงานระหว่าง ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคนงาน
  • เคยได้ยินคำพูดที่ว่า หากครูหนึ่งคนยิ้ม ก็จะทำให้เด็กๆ อีกกว่ายี่สิบกว่าคนก็จะยิ้มมีความสุขตาม(ไม่มากก็น้อย) หากวันไหนครูหน้าบูด เครียด เด็กๆอีกกว่ายี่สิบกว่าคนก็จะเครียด อึดอัด สิ่งที่มีผลกับคบรอบข้างมากๆ คือเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกของเราเองที่ส่งผล จะพยายามสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้มันเอื้อต่อการเรียนรู้ทุกกิจกรรม และอยู่ในบรรยากาศแห่งความสุขอย่างต่อเนื่อง

3. แล้วต่อไปจะทำอะไร (what’s next) จะพัฒนาอย่างไร?
ด้านการเรียนการสอน
  •  วิชา PBL วางแผนการทำงานและออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และแปลกใหม่ เกิดการเรียนรู้ที่เป็น PBL อย่างแท้จริง ตามกระบวนการการเรียนรู้
  •  วิชาคณิตศาสตร์ ถ่ายถอดนวัตกรรมการสอนแนวใหม่ การออกแบบสร้างแผนการเรียนรู้แบบใหม่ เพื่อเผยแพร่ จะร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูผู้สอนร่วมอย่างสม่ำเสมอ และพัฒนาครูคณิตฯ มัธยม เพื่อเป็นการสอนแบบอย่าง ผ่านLesson Study
  •  วิชาทักษะชีวิต กำหนดโจทย์ที่มีความหมายให้กับนักเรียน เพื่อทดลองเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้แบบเดิม ที่ยังไม่ตอบโจทย์ ความหมายที่แท้จริงของวิชาทักษะชีวิต
  • ทำความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์ระดับราบกับนักเรียนทุกๆคน เนื่องจากเป็นการเริ่มเรียนรู้กับนักเรียนกลุ่มใหม่ ที่เลื่อนชั้น
  •  ออกแบบการเรียนการสอนที่เป็นระบบและเป็นปัจจุบัน

ด้านสัมพันธภาพในองค์กร
  • มีเป้าหมายใหญ่กับหน้างานของเราเองด้วยความเต็มที่ เอื้อตัวเองให้เชื่อมโยงกับหน้างานส่วนอื่นๆ อาสาช่วยงามส่วนรวมด้วยความเต็มใจ พยายามหาโอกาสแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ ของตนเอง เรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนฯ กับคุณครูท่านอื่นอย่างสม่ำเสมอ