การอ่านหนังสือทบทวนอีกหน มันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้ผมได้เห็นมุมมองใหม่ๆ จากหนังสือเล่มเดิม
- มุมมองที่เห็นหลากหลายด้าน ข้อคิด สิ่งที่นำมาปรับใช้
- มุมมองที่เห็นหัวใจของเรื่องเดิมมากขึ้น เห็นการเชื่อมโยงจากความรู้เดิมที่สั่งสมมา จากระยะเวลาหนึ่ง
- มุมมองใหม่ที่เห็นความปราณีตของการเขียน การใช้คำ การเชื่องโยง
เวลาที่ผมมีความสุข ความสบาย ความโล่งจากภายใน..
ขณะเวลานั้น มองเห็นอะไรก็ใจก็จะเป็นสุข พอมานั่งเขียนงานคีบอร์ดนุ่มเหมือนปุยนุ่น มองเห็นอักษรที่เขียนลงในบทความ เหมือนตัวเองมองเห็นว่าเราจะเขียนออกมารูปแบบใด ที่ทำให้ท่านผู้อ่านคล้อยตาม มีอารมณ์มีความรู้สึกร่วมกับงานเขียนของเรา
ความคิดบวก(Positive Thinking) มักทำให้เราเกิดจินตนาการเชิงลึกและสร้างสรรค์บ่อยครั้ง
ยิ่งถ้าเราเห็นมุมมองของตัวอย่างที่เราพบเจอด้วยตัวเอง อ่านเจอจากเรื่องราวที่เราประทับใจ เราก็มักจะเชื่อมโยงความรู้สึกนั้นมาเสริมกับความรู้เดิมของเราที่เราคิดบวกไว้ แล้วมันก็มักจะกลายเป็นจิตนาการอันบรรเจิด
วันที่ 24 ตุลาคม 2554 เวลาประมาณ 3 ทุ่มกว่าๆ ผมหยิบบันทึกของผมขึ้นมาเขียนเรื่องหนึ่งที่ผมเคยอ่านเจอมาก่อนเมื่อหลายปีที่แล้ว สมัยเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนนาแกสามัคคี จ.นครพนม ตอนนั้นเองผมค้นหาคำว่า 'พระไพศาล วิสาโล' ใน youtube.com จากนั้นผมก็เลือกเรื่องการบรรยายธรรมะของพระอาจารย์ท่าน
ท่านพูดสอนเรื่อง 'ทุกข์แท้แก้ที่ใจของเรา' ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับที่ผมเคยอ่านเจอในหนังสือมงคลชีวิต : มงคลที่ 27(พระสมชาย ฐานวุฑฺโฒ : 246-247) เรื่องที่ได้ฟัง/ได้อ่านมานั้น เรื่องมีอยู่ว่า..
พระปุณณะเดิมเป็นชาวสุนาปรันตะ ไปค้าขายที่เมืองสาวัตถีได้ฟังเทศน์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงออกบวช
ครั้นบวชแล้วการทำสมาธิภาวนาไม่ได้ผล เพราะไม่คุ้นกับสถานที่ ท่านคิดว่าภูมิอากาศที่บ้านเดิมของท่านเหมาะกับตัวท่านมากกว่า จึงทูลลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รับสั่งถามว่า
"เธอแน่ใจหรือ ปุณณะ, คนชาวสุนาปรันตะนั้นดุร้ายมากนักทั้งหยาบคายด้วย เธอจะทนไหวหรือ"
"ไหวพระเจ้าข้า"
"นี่ปุณณะ ถ้าคนพวกนั้นเขาด่าเธอ เธอจะมีอุบายอย่างไร"
"ข้าพเจ้าก็จะคิดว่าถึงเขาจะด่าก็ยังดีกว่าเขาตบต่อยด้วยมือพระเจ้าข้า"
"ถ้าเผื่อเขาต่อยเอาล่ะ ปุณณะ"
"ก็ยังดีพระเจ้าข้า ดีกว่าเขาเอาก้อนดินข้วางเอา"
"ก็ถ้าเขาเอาก้อนดินขว้างเอาล่ะ"
"ข้าพระองค์ก็จะคิดว่า ก็ยังดีพระเจ้าข้า ดีกว่าเขาเอาไม้ตะพดตีเอา"
"เออ ถ้าเผื่อเขาหวดด้วยตะพดล่ะ"
"ก็ยังดีพระเจ้าค่ะ ดีกว่าถูกเขาแทงหรือฟันด้วยหอกดาบ"
"เอาล่ะ ถ้าเผื่อคนพวกนั้นเขาจะฆ่าเธอด้วยหอกด้วยดาบล่ะ ปุณณะ"
"ข้าพระองค์ก็จะคิดว่า มันก็เป็นการดีเหมือนกัน พระเจ้าข้า"
"ดีอย่างไร ปุณณะ"
"ก็คนบางพวกที่คิดอยากตาย ยังต้องเสียเวลาเที่ยวแสวงหาศัสตราวุธมาฆ่าตัวเอง แต่ข้าพระองค์ มีโชคดีกว่าคนพวกนั้น ไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยวหาศัสตราวุธอย่างเขา"
"ดีมาก ปุณณะ เธอคิดได้ดีมาก เป็นอันตกลง เราอนุญาตให้เธอไปพำนักทำความเพียร ที่ตำบลสุนาปรันตะได้"
พระปุณณะกลับไปเมืองสุนาปรันตะแล้ว ทำความเพียร ในไม่ช้าใจก็หยุดนิ่ง เข้าถึงพระธรรมกายไปตามลำดับ จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
นี่คือเรื่องของพระปุณณะ นักอดทนตัวอย่าง ซึ่งอดทนได้โดยวิธีเชิดอารมณ์ที่มากระทบนั้นให้สูงขึ้น.
เรื่องของพระปุณณะผมเคยนำไปเล่าให้นักเรียนฟังหลายชั้นที่ผมสอน เล่าสอดแทรกแง่คิดเรื่องความอดทนและการยกระดับของอารมณ์
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจมากๆ ทุกครั้งที่นึกถึงเรื่องความอดทน ความเพียร ที่ท่านทำได้ยาวนานเป็นเวลาหลายต่อหลายปี ท่านก็คือ 'พระเตมีย์'
ผมมีโอกาสได้สอนคณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ใน Quarter 2 นักเรียนชั้น ป.6 เรียนเรื่องนิทาน ทศชาติ 10 ชาติ ในรายวิชาภาษาไทย และผมก็ได้มีโอกาสฟังเรื่องราวจากครูสังข์(นายนิคม ศาลาทอง)และนักเรียนชั้น ป.6 บางคนเล่าให้ฟังถึงความมานะ อดทน ที่ต้องยอมบำเพ็ญเพียรของพระเตมีย์ เรื่องมีอยู่ว่า..
เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ มีอยู่ชาติหนึ่ง
พระองค์เกิดเป็นโอรสกษัตริย์นามว่าพระเตมีย์ ขณะอายุได้ ๖-๗ ขวบ ได้เห็นพระราชบิดาสั่งประหารโจรโดยใช้ไฟครอกให้ตาย ด้วยบุญบารมีที่ทำมาดีแล้ว ทำให้พระเตมีย์ระลึกชาติได้ว่าภพในอดีตพระองค์ก็เคยเป็นกษัตริย์ และก็เคยสั่งประหารโจร ทำให้ต้องตกนรกอยู่ช้านาน จึงคิดว่า ถ้าชาตินี้เราต้องเป็นกษัตริย์อีก ก็ต้องฆ่าโจรอีก แล้วก็จะตกนรกอีก
ตั้งแต่วันนั้นมา พระเตมีย์จึงแกล้งทำเป็นใบ้ ทำเป็นอ่อนเปลี้ยเสียขาไม่ขยับเขื้อนร่างกายพระราชบิดาจะเอาขนมเอาของเล่นมาล่อ ก็ไม่สนใจ จะเอามดมาไต่ ไรมากัด เอาไฟมาเผารอบตัวให้ร้อน เอาช้างมาทำท่าจะแทงก็เฉย ครั้งถึงวัยหนุ่ม จะเอาสาวๆ สวยๆ มาล่อ ก็เฉยเพราะคำนึงถึงภัยในนรก หิริโอตตัปปะเกิดขึ้นเต็มที่ จึงมีความอดทนอยู่ได้
นานวันเข้าพระราชบิดาเห็นว่า ถ้าเอาพระเตมีย์ไว้ก็จะเป็นกาลกิณีแก่บ้านเมือง จึงสั่งให้คนนำไปประหารเสียนอกเมือง เมื่อออกมาพ้นเมืองแล้ว พระเตมีย์ก็แสดงตัวว่าไม่ได้พิการแต่อย่างใด มีพละกำลังสมบูรณ์พร้อม แล้วก็ออกบวช ต่อมาพระราชบิดา ญาติพี่น้อง ประชาชนก็ได้ออกบวชตามไปด้วยและได้สำเร็จฌานสมาบัติกันเป็นจำนวนมาก.
หลายครั้งที่ผมนั่งตั้งจิตภาวนาให้จิตใจผ่อนคลาย สงบลง เยือกเย็นให้ทุกขณะจิต
หลายครั้งที่หยิบหนังสือธรรมะขึ้นมาอ่าน สอนใจ แล้วบ่อยครั้งก็จะเขียนเก็บเรื่องราวต่างๆ ที่ประทับใจเก็บเอาไว้ เอามาเขียนเล่าต่อให้ผู้ที่เข้ามาอ่านได้รับรู้สึกดีๆ ที่น่าประทับใจนั้นกลับไปด้วยความปิติ
หลายครั้งที่ผมเปิดคอมฯ เข้าไปฟังธรรมะตามเว็บต่างๆ หรือปรัชญาชีวิต
หลายครั้งที่ผมขับรถไปฟังธรรมะที่วัดหรือสถานที่สำคัญเกี่ยวกับศาสนา
หลายครั้งเวลาประจวบเหมาะพอดีที่ได้ฟังธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นจากพระหรือผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทางด้านศาสนา
มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ผมนอนลงแล้วรู้สึกว่าตัวเองนอนหลับอย่างมีความสุขมากในค่ำคืนนั้น เพราาะก่อนนอนวันนั้นผมนั่งสมาธิ สวดมนต์ภาวนา แล้วก็แผ่เมตตา เสร็จแล้วก็นอนลงอย่างช้าๆ อย่างปิติสุขใจ
พอผมตื่นขึ้นมารู้สึกว่าตัวเราเบาสบาย รู้สึกดีและมีความสุขอยู่ภายใน
หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา
ผมก็ทำเป็นกิจวัตรมาจนถึงทุกวันนี้..
ทุกวันก่อนนอนและหลังจากตื่นนอน ให้ท่านลองบอกตัวเองว่า..
...ฉันเบาสบาย...ฉันผ่อนคลาย...และฉันจะมีความสุข...