23 ก.ย. 2555

Lesson Study : BAR ขั้นสอน และ AAR , ครูราชิต สุพร

Lesson Study การเรียนการสอนคณิตศาสตร์แบบ PBL (Problem-based learning)

ชื่อกิจกรรม : “การหาขนาดของมุมภายในของรูปหลายเหลี่ยม” ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้สอน : นายราชิต สุพร (ครูป้อม)
เป้าหมาย : เพื่อให้นักเรียนเข้าใจและสามารถสื่อสารอธิบายความเข้าใจเกี่ยวกับมุมแต่ละชนิด เชื่อมโยงความรู้เกี่ยวกับการหาขนาดของมุมภายในของรูปหลายๆ เหลี่ยมได้ แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ด้วยวิธีการที่หลากหลาย
อุปกรณ์/สื่อ : รูป 3 - 8 เหลี่ยม ไม้บรรทัด ครึ่งวงกลม GSP(โปรแกรมทางคณิตศาสตร์)

ขั้นที่ 1 : พูดคุยก่อนถึงกิจกรรมที่จะให้คุณครูคณิตศาสตร์ทุกท่านไปสังเกตการณ์การสอน (BAR) 
กิจกรรม(BAR) คุณครูผู้สอนเล่ากิจกรรมขั้นสอน และนำเสนอแผนการสอนแบบคร่าวๆ 
ขั้นสอน
ชง : ครูติดรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และหลายเหลี่ยม พร้อมกำหนดขนาดของมุมบ้างมุม แล้วใช้คำถามกระตุ้นการคิด "นักเรียนคิดว่ารูปหลายเหลี่ยมต่อไปนี้มีมุมภายในเป็นเท่าไร นักเรียนมีวิธีคิดอย่างไร " ให้นักเรียนลองหาคำตอบพร้อมแสดงความคิดเห็น
เชื่อม : ครูให้นักเรียนออกมานำเสนอวิธีการคิดของตนเองหน้าชั้นเรียน แล้วครูช่วยจัดระบบข้อมูลให้นักเรียน ในแต่ละรูปหลายเหลี่ยม
ใช้ : ให้ทำใบงาน "วาดภาพรูปหลายเหลี่ยม แล้วหาผลรวมของมุมภายใน" ที่ครูกำหนดให้

ข้อเสนอแนะจากทีมคณิตศาสตร์นอกกะลา
- ครูควรสอนพื้นฐานการหามุมภายในของรูปสามเหลี่ยม หลายๆรูปแบบ จนเข้าใจว่ามุมภายในของรูปสามเหลี่ยมคือ 180 องศา
- ครูชงด้วยการนำรูปสามเหลี่ยมหลายรูปแบบมาให้นักเรียนช่วยหามุมภายในเพื่อสรุปความเข้าใจว่ามุมภายในของรูปสามเหลี่ยมเท่ากับ 180 องศา
- ครูจัดระบบข้อมูลเป็นตารางความสัมพันธ์และเพิ่มช่องจำนวนเหลี่ยมลงไปเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้น
- โจทย์ที่ให้ทำงานควรมีลักษณะที่ครูกำหนดให้ นักเรียนได้ออกแบบวาดภาพ แล้วหามุมภายใน และมีโจทย์ที่ให้นักเรียนได้ตั้งขึ้นเองด้วย

ขั้นที่ 2 : ครูผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียน พร้อมกับคุณครูเข้าร่วมสังเกตการสอน แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนี้

ขั้นนำ
 ครูโชว์ภาพรูป 3 เหลี่ยม 3 ภาพให้นักเรียนดู ก่อนเชื่อมโยงเข้าสู่บทเรียน โดยให้นักเรียนทุกคนมีสมุดทด

ขั้นสอน
ชง : ครูใช้คำถาม “นักเรียนคิดว่ารูป 3 เหลี่ยมแต่ละรูปนั้น มีมุมภายในแต่รูปเท่าไรบ้าง?”
เชื่อม : นักเรียนยกมือนำเสนอความคิดของตนเอง และแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในชั้นเรียน ครูเขียนสิ่งที่นักเรียนบนไว้กระดาน ให้นักเรียนทุกคนดู
-นักเรียนเสนอความคิดเห็น “มุมภายในรูป 3 เหลี่ยมรวมกันได้ 180 องศา และรูป 4 เหลี่ยม 360 องศา”
พร้อมกับใช้คำถามสอบถามนักเรียนทุกคนอย่างสม่ำเสมอ เช่น “นักเรียนคิดถ้าหากเป็นรูปมากกว่ารูป 3 เหลี่ยมนักเรียนเห็นความสัมพันธ์อะไรบ้าง?”
  -ให้นักเรียนคิดหาคำตอบ แล้วให้นำมานำเสนอกัน นำข้อมูลที่นำเสนอมาเติมลงในตารางเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของมุมและรูปเหลี่ยม
ระหว่างนำเสนอครูใช้คำถามกระตุ้นให้คิดกันทุกคน “ใครเห็นต่าง” / “ใครมีวิธีคิดที่ต้องการนำเสนอเพิ่มเติม” หลังจากนักเรียนอธิบายวิธีคิดเห็นความสัมพันธ์แล้ว ครูใช้โปรแกรม GSP

มาพิสูจน์ให้นักเรียนเห็นความสัมพันธ์ของขนาดมุมภายใน ก่อนให้นักเรียนขึ้นทำงานเป็นกลุ่ม
ใช้ : ครูให้นักเรียนทำใบงานเกี่ยวกับการหาขนาดของมุมภายในของรูปหลายเหลี่ยม มุมที่หายไปและเติมข้อมูลลงในตารางความสัมพันธ์ที่ครูกำหนดมาให้ ก่อนส่งงานครูใช้คำถามตรวจเช็คความเข้าใจกับนักเรียนทุกคน

ขั้นสรุป
 ครูและนักเรียนร่วมกันทบทวนความเข้าใจของสาระนี้อีกครั้ง พร้อมทั้งชื่นชมนักเรียนทุกคนที่ตั้งใจทำงานในครั้งนี้ 

สะท้อนบทเรียน (AAR)
- ครูมีการเตรียมสื่อการสอนเกี่ยวกับเรื่องที่จะสอนมาเป็นอย่างดี
- กิจกรรมและเนื้อหาที่สอนเหมาะสมกับนักเรียนชั้น ป.6 ในเรื่องการหาขนาดของมุมภายในของรูป หลายเหลี่ยม
- ครูสามารถเชื่อมโยงและร้อยเรียงกระบวนการสอน และสื่อที่เตรียมมาได้เป็นอย่างดี ช่วยให้นักเรียนเห็นภาพหรือเกิดภาพในสมอง ( Visual )
- ในระหว่างที่สอนครูมีการใช้คำถามกระตุ้น ให้นักเรียนได้ใช้กระบวนการคิดตลอดเวลา พร้อมทั้งมีการจัดระบบข้อมูลที่ดี ซึ่งเป็นตัวช่วยนำพามาซึ่งคำตอบที่ถูกต้องถูกต้อง
- นักเรียนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นของตนเอง (Show and Share)
- ครูมีท่าที และการใช้น้ำเสียง รวมถึงการกล่าวชื่นชมนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ(Empower) เมื่อนักเรียนร่วมแสดงความคิดเห็นวิธีคิด

ครูน้ำผึ้ง ผู้บันทึกสังเกตการณ์สอน 
ครูป้อม ผู้ตรวจบันทึก

Lesson Study : BAR ขั้นสอน และ AAR , ครูน้ำฝน ลาภศึก

Lesson Study การเรียนการสอนคณิตศาสตร์แบบ PBL (Problem-based learning)

 ชื่อกิจกรรม : บอกชนิดของเงิน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ผู้สอน : นางสาวน้ำฝน ลาภศึก(ครูฝน)
เป้าหมาย : นักเรียนเข้าใจและรู้จักชนิดของเงินต่างๆ สามารถแยกประเภทของเงินเหรียญและธนบัตร และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
สื่อ / อุปกรณ์ : ภาพการ์ตูน เรื่องเล่า เงิน ใบงาน

 ขั้นที่ 1 : พูดคุยก่อนถึงกิจกรรมที่จะให้คุณครูคณิตศาสตร์ทุกท่านไปสังเกตการณ์การสอน (BAR)

 กิจกรรม(BAR) คุณครูผู้สอนเล่ากิจกรรมขั้นสอน และนำเสนอแผนการสอนแบบคร่าวๆ

ชง : ครูใช้เรื่องเล่าเกี่ยวหมาป่ากับหมี เจ้าหมาป่ามีเงินอยู่ในกระเป๋าจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ได้บอกว่าเป็นเงินชนิดใดบ้าง และเดินมาพบเจ้าหมีจึงให้เจ้าหมีทายว่าเงินในกระเป๋าของเจ้าหมาป่าจะเป็นเงินชนิดใดได้บ้าง
เชื่อม : ครูให้นักเรียนแสดงความคิดของตนเอง และออกมานำเสนอวิธีคิดบนกระดาน นักเรียนคนอื่นช่วยตรวจสอบมูลค่าของเงินพร้อมๆกัน และให้นักเรียนยกมือนำเสนอความคิดของตนเองพร้อมออกมานำเสนอวิธีคิดบนกระดาน หลังจากนั้นครูและนักเรียนช่วยกันตรวจสอบจำนวน เงินแต่ละวิธีว่าถูกต้องหรือไม่
ใช้ : ครูให้นักเรียนบอกชนิดของเงินที่เป็นไปได้ของจำนวนต่างๆ ลงในใบงาน เพื่อทบทวนความเข้าใจ

ข้อเสนอเพิ่มเติม จากทีมคณิตศาสตร์(BAR)
- สื่อที่ใช้ถ้าเป็นสื่อจริงหรือคล้ายของจริงก็จะช่วยให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
- เรื่องราวที่จะเล่าให้นักเรียนฟังจะมีส่วนสำคัญที่จะดึงดูดความสนใจของนักเรียน ดังนั้นเรื่องราวที่จะเล่าควรชวนให้น่าติดตามและน่าสนใจ และอาจเพิ่มความท้าทายให้ชวนคิด
- แบบฝึกหัดหรือใบงานควรมีความสัมพันธ์กับชีวิตจริงและเป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตจริงของนักเรียนเพื่อให้นักเรียนเห็นความสำคัญและเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตประจำวันและนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

ขั้นที่ 2 : ครูผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียน พร้อมกับคุณครูเข้าร่วมสังเกตการสอน
แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนี้
ขั้นนำ

ครูเล่าเรื่องสี่สหายจอมปัญหา ประลองปัญญากับเด็กที่ตั้งใจ เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่เนื้อหา

ขั้นสอน
ง : ครูใช้เรื่องเล่าสี่สหายจอมปัญหา ท้าประลองปัญญาด้วยคำกระตุ้นการคิด “ตัวที่ 1 ฉันมีเงินอยู่ 10 บาท ในกระเป๋าของฉันจะมีเงินเหรียญ หรือธนบัตรอะไรได้บ้าง ”
เชื่อม : ครูให้นักเรียนแสดงความคิดของตนเอง และออกมานำเสนอวิธีคิดบนกระดาน
- นักเรียนคนอื่นช่วยตรวจสอบมูลค่าของเงินพร้อมๆกัน
- ครูใช้คำถามกระตุ้นให้คิด “มีใครวิธีอื่นที่แตกต่างอีกอีกหรือไม่ และเป็นอย่างไร”
- นักเรียนยกมือนำเสนอความคิดของตนเองพร้อมออกมานำเสนอวิธีคิดบนกระดาน
- ครูและนักเรียนช่วยกันตรวจสอบจำนวน และทบทวนทุกวิธีอีกครั้งหนึ่ง
ใช้ : ครูให้นักเรียนทำใบงานเกี่ยวกับเรื่องเงิน (บอกชนิดของเงินที่เป็นไปได้ของจำนวนต่างๆ) เพื่อทบทวนความเข้าใจ
ขั้นสรุป
ครูให้นักเรียนแต่ละคนเล่าสิ่งที่ตนเองเข้าใจจากใบงานให้ครูฟัง
สะท้อนบทเรียน (AAR)
- ครูมีการเตรียมสื่อที่ใช้ในการเรียนรู้ดีมาก เช่น มีตัวการ์ตูน มีเรื่องเล่า ธนบัตร เหรียญ ใบงาน ฯลฯ
- ครูใช้น้ำเสียงที่น่าฟัง มีการชื่นชมนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ (Empower) เมื่อนักเรียนแชร์วิธีคิด
- ครูสอนผ่านเรื่องเล่าที่น่าสนใจทำให้นักเรียนทุกคนให้ความสนใจ ดูมีสีสันเพิ่มความน่าสนใจและทำให้เด็กๆกระตือรือร้นที่อยากจะเรียนรู้ ยิ่งขึ้น
- กิจกรรมการเรียนการสอนเหมาะสมกับเด็กๆ ป.1 ในเรื่องเงิน ไม่ยากเกินไป
- ครูใช้เวลาที่เหมาะสมในการทำกิจกรรม
- ครูทอดเวลาให้นักเรียนมีเวลาได้คิดจากคำถามที่ให้นักเรียนร่วมกันตอบ
- ครูพยายามให้เด็กๆทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Show and Share ด้วยวิธีคิดที่หลากหลายและไม่ตัดสินผิดหรือถูกแต่พยายามให้เด็กเห็นได้ด้วยตนเองและเข้าใจโดยใช้คำถามที่กระตุ้นการคิดที่หลากหลาย
- ครูเริ่มกิจกรรมโดยลำดับกิจกรรมจากง่าย ไปหา ยาก และเรียงลำดับกิจกรรมในแต่ละขั้นได้ชัดเจน นักเรียนมองเห็นความเชื่อมโยงของบทเรียนในละข้อได้ง่าย

ครูสังข์  : ผู้บันทึกสังเกตการณ์สอน
ครูป้อม  : ผู้ตรวจบันทึก

15 ก.ย. 2555

อาบหมอก หยอกจันทร์


อาบสายหมอกหยอกแสงจันทร์วันแสนหวาน
ในวันวานผ่านลับไม่กลับหลัง
เหลือเพียงรอยอาลัยในภวังค์
เป็นเรื่องเก่าเล่าให้ฟังอดีตกาล

ในกระท่อมริมทางอยู่กลางทุ่ง
เรายังมุ่งมองฟ้าอยู่หน้าบ้าน
ภาพลางลางกลางหนาวอันยาวนาน
สายหมอกผ่านภูผายังตราตรึง

เพราะในบ้านหลังนี้มีพ่อแม่
ให้ชะแง้มองตามยามคิดถึง
กลิ่นกองฟางวางมัดยังรัดรึง
ปานประหนึ่งสายใยในชีวิต
“หนาวสายหมอกดอกไม้ในยามเช้า
มองจันทร์เจ้ายามค่ำดื่มด่ำจิต”

โอ้ความหลังยังงามในความคิด
คอยตามติดหลับตื่นยังตื้นตัน

กลางเมืองกรุงย้อนไกลไปบ้านเก่า
กลางความเหงางดงามในความฝัน
ความเป็นจริงยิ่งไกลเลยวัยวัน
มิอาจหันกลับหามาชื่นชม

“ภาพสายหมอกหยอกจันทร์” อันแสนสวย
จักมาช่วยหรือกลับมาทับถม
เมื่อความหลังเลือนหายกลางสายลม
ความเป็นจริงยิ่งระทมท้อฤทัย

2 ก.ย. 2555

Lesson Study : BAR ขั้นสอน และ AAR , ครูชาญณรงค์ วิเศษสัตย์

Lesson Study การเรียนการสอนคณิตศาสตร์แบบ PBL (Problem-based learning)

ชื่อกิจกรรม : วัดความยาว ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
ผู้สอน : นายชาญณรงค์ วิเศษสัตย์ (ครูชาญ)
เป้าหมาย : เพื่อให้นักเรียนเข้าใจการวัดความยาว โดยใช้หน่วยมาตรฐาน สามารถกะประมาณความยาวได้ และ หาพื้นที่รอบรูปเรขาคณิตแบบต่างๆได้
อุปกรณ์ : แท่งวัด(หน่วยไม่มาตรฐาน) ไม้บรรทัด(หน่วยมาตรฐาน) กระป๋องแป้ง ขวดน้ำดื่ม โต๊ะเรียนรูปหกเหลี่ยมด้านเท่า หนังสือนิทานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใบงาน

ขั้นที่ 1 : พูดคุยก่อนถึงกิจกรรมที่จะให้คุณครูคณิตศาสตร์ทุกท่านไปสังเกตการณ์การสอน (BAR)

กิจกรรม(BAR)  คุณครูผู้สอนเล่ากิจกรรมขั้นสอน และนำเสนอแผนการสอนแบบคร่าวๆ
ชง: ครูใช้ Story line เชื่อมโยงสู่สถานการณ์การแก้โจทย์ปัญหา
โดยการติดเครื่องมือวัดความยาวที่หลากหลายเช่น ไม่บล็อก แผ่นเพ็จ หลอด ลูกบาศก์ และมีตัวละครเพื่อให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
เชื่อม: นักเรียนสังเกตความสัมพันธ์ของเครื่องมือวัดความยาวต่างๆ เช่น ไม้บล็อกยาวเท่ากับลูกบาศก์ 3 ลูกบาศก์ หลอดยาวเท่ากับลูกบาศก์ 2 ลูกบาศก์ แผ่นเพสยาวเท่ากับลูกบาศก์ 4 ลูกบาศก์ แล้วบอกสิ่งที่เห็น
ครูใช้ Story line เชื่อมโยงสู่สถานการณ์ ให้บอกความสูงของไอครีม โดยใช้เครื่องมือการวัดมากะประมาณก่อนวัดจริง นักเรียนคาดเดาคำตอบโดยกะประมาณ แล้วตรวจสอบโดยทดลองวางเครื่องมือวัดเปรียบเทียบความสูงของไอครีม
ใช้: นักเรียนทำใบงานเกี่ยวกับการวัดความยาวโดยใช้สื่อที่มีหน่วยไม่มาตรฐาน ในรูปแบบโจทย์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

ข้อเสนอเพิ่มเติม จากทีมคณิตศาสตร์(BAR)
- สื่อที่ใช้อาจเป็นแท่งเศษส่วนในหน้าที่ไม่มีตัวเลขเพื่อให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และจะได้มีรูปแบบที่หลากหลาย
- ครูจัดระบบข้อมูลการเปรียบเทียบเพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้น อาจจะใช้คำถามกระตุ้นการคิด ให้เด็กๆ ได้สัมผัสสื่อจริง ปฏิบัติจริงร่วมกัน
- ระดับ ป. 2 อาจง่ายไป อาจใช้หน่วยมาตรฐานมาเชื่อมโยงสอนด้วย


ขั้นที่ 2 : ครูผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียน พร้อมกับคุณครูเข้าร่วมสังเกตการสอน
แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
ดังนี้

ขั้นนำ 
 ครูนำแท่งวัดที่มีความสูงต่างๆ กัน 3 แท่ง มาวางให้นักเรียนสังเกต แล้วถามว่าให้ “นักเรียนเห็นอะไร” “ แท่งวัดทั้งสาม มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ”
ครูนำกระป๋องแป้งชูให้นักเรียนดูแล้วถามว่า นักเรียนคิดว่า กระป๋องแป้งจะสูงกี่แท่งวัดสีเขียว สีน้ำเงิน และ สีฟ้า
เมื่อนักเรียนอธิบาย ครูจัดระบบจนนักเรียนเข้าใจ และเห็นความสัมพันธ์

ขั้นสอน
    ชง ครูชูไม้บรรทัดให้นักเรียนดูแล้วถามว่า “นักเรียนเห็นอะไร ” “ด้านถี่ๆนี้เป็นหน่วยอะไร” “ด้านห่างๆนี้เป็นหน่วยอะไร”
 ครูชูหนังสือนิทานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วถามว่า “หนังสือนิทานมีรูปร่างเป็นอย่างไร” “แต่ละด้านยาวกี่นิ้ว” ครูให้นักเรียนกะประมาณก่อน แล้วค่อยวัดจริง
 “ นักเรียนคิดว่าความยาวรอบรูปหนังสือนิทานจะเป็นเท่าไร คิดอย่างไร ใครคิดได้ออกมาแสดงวิธีคิด”
ครูชูหนังสือโต๊ะรูปหกเหลี่ยมด้านเท่า แล้วถามว่า “ โต๊ะมีรูปร่างเป็นอย่างไร” “แต่ละด้านยาวกี่นิ้ว” ครูให้นักเรียนกะประมาณก่อน แล้วค่อยวัดจริง
 “ นักเรียนคิดว่าความยาวรอบรูปโต๊ะจะเป็นเท่าไร คิดอย่างไร ใครคิดได้ออกมาแสดงวิธีคิด”
เชื่อม นักเรียนที่คิดได้ นำเสนอครูและเพื่อน ครูจัดระบบข้อมูลให้นักเรียนเข้าใจง่าย ซึ่งใช้คำถามดังนี้
 “ใครคิดได้มาแสดงวิธีคิดให้ครูและเพื่อนดู ” “ เห็นด้วยกับเพื่อนไหม” “ ใครมีวิธี คิดที่แตกต่างจากนี้”

ใช้ นักเรียนทำใบงาน

ขั้นสรุป ครูให้นักเรียนแต่ละคนเล่าสิ่งที่ตนเองเข้าใจจากใบงานให้ครูฟัง

สะท้อนบทเรียน (AAR)
- ครูจัดระบบข้อมูลการเปรียบเทียบเพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้น อาจจะใช้คำถามกระตุ้นการคิด ให้เด็กๆ ได้สัมผัสสื่อจริง ปฏิบัติจริงร่วมกัน
- ครูสอนผ่านเรื่องเล่านักเรียนทุกคนให้ความสนใจ มีความกระตือรือร้นที่จะอยากเรียนรู้
- กิจกรรมการเรียนการสอนเหมาะสมกับเด็กๆ ป.2 ในเรื่องการวัด และครูเตรียมสื่อการสอนเป็นอย่างดี
- ครูให้นักเรียนได้นำเสนอวิธีคิด Show and Share และครูใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนคิดเสมอ
- ครูใช้น้ำเสียงที่น่าฟัง มีการชื่นชมนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ(Empower) เมื่อนักเรียนแชร์วิธีคิด
- ครูจัดระบบข้อมูลระหว่างที่สอนได้ดีมาก เมื่อเด็กเสนอวิธีคิดครูเขียนสิ่งที่นักเรียนเข้าใจไว้ให้ทบทวนทุกครั้ง
- ครูเริ่มกิจกรรมโดยลำดับกิจกรรมจากง่าย ไปหา ยาก นักเรียนมองเห็นความเชื่อมโยงของบทเรียนในล่ะข้อได้ง่าย


ผู้บันทึกสังเกตการณ์สอน 

ครูชาญ 
ผู้ตรวจบันทึก