19 ม.ค. 2555

รอยเท้าเล็กๆ ของเราเอง - วินทร์ เลียววาริณ

 การเดินทางไกลหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก
เล่าจื้อ      

"จุดเดียวที่สร้างความแตกต่างระหว่างชีวิตที่ดีกับชีวิตที่หม่นหมองคือคำว่า 'ทัศนคติ' 
ทัศนคติที่ดีต่อชีวิตทำให้ใครคนหนึ่งประสบความสำเร็จได้มากกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้ายตลอดเวลา แต่ทัศนคติที่ดีเกิดจากความสมดุลทั้งกายและใจ
ร่างกายต้องการออกกำลัง จิตก็เช่นเดียวกัน"

วินทร์ เลียววาริณ
มิถุนายน 2548

  ผมหลงรักหนังสือเล่มนี้เสียแล้ว 
เพราะถ้าหากว่ามีใครมาขอให้ผมช่วยแนะนำหนังสือเพื่อนำไปอ่านเสริมกำลังใจ หนังสือเล่มแรกและตรึงใจของผมเสมอก็จะคือ 'รอยเท้าเล็กๆ ของเราเอง' 
ครูอ้อนได้มอบหนังสือเล่มนี้ให้ผมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็นหนังสือเสริมกำลังใจ ส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้มาจากบทความที่เขียนลงในเว็บไซต์ winbookclub.com ในช่วงปี 2547 - 2548 นอกนั้นเป็นบทความที่กระจัดกระจายตามนิตยสารต่างๆ
ในเล่มนี้มีเรื่องสั้นทั้งหมด 46 เรื่อง เรื่องที่ผมอ่านบ่อยครั้งมากที่สุดและอยากนำมาเสนอให้ท่านหยิบขึ้นมาอ่าน เพื่อที่จะให้ท่านอ่านเสริมแล้วเติมพลังใจในยามที่สุขถาวะของเราหม่นหมอง อ่อนล้า กำลังจะหมดพลัง
ได้แก่ บอกรักแม่, ความฝัน, ความยาวของหนึ่งวินาที, เสียน้อยเสียยาก, วันหมดอายุ, คิดยาก-คิดง่าย, เปลือกของสุภาพชน, รอยเท้าเล็กๆ ของเราเอง, ประโยชน์ของความไม่มี, กบเลือกงาน, มาสาย-กลับดึก, งานทรมานกับงานในฝัน, อภัยทาน, "ช่างมัน ฉันไม่แคร์", ส้มเปรี้ยวกับส้มหวาน, ขนาดของหัวใจ, เจตนาดีกับลมปาก, บทเรียนจากความเชื่องช้า, บทเรียนจากตะกร้า ฯลฯ

รวมทุกประโยคที่มีความหมายที่ผมประทับใจจากหนังสือเล่มนี้ครับ..
บอกรักแม่ : เมื่อคุณรักใครก็ควรแสดงออกให้เขารู้ แต่ไม่ช้าเกินไปที่จะบอกคนอื่นๆ ว่า ไปเยี่ยมแม่ของคุณในวันนี้ บอกรักของคุณเสียก่อนที่แม่ของคุณจะไม่ได้ยินคำบอกรักนั้น
บางสิ่งบางอย่างในโลกเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว
ความฝัน : เคยสังเกตไหมว่า เมื่อเรายังเด็กความฝันมักสร้างสรรค์กว่าเมื่อเราโตขึ้น เพราะสมองของเด็กน้อยยังไม่ถูกโลกของความจริงโหมกระหน่ำว่า นี่เป็นไปไม่ได้ นั่นก็เป็นไปไม่ได้ ความสวยงามของความฝันที่ดีคือมันเปลี่ยนชีวิตผู้ที่ฝันได้ และก็เปลี่ยนชีวิตของทั้งมนุษยชาติไปในทางที่ดีขึ้นได้
บางทีระยะทางระหว่างความฝันกับความจริงไม่ได้ห่างกันอย่างที่เรากลัว บางทีวันพรุ่งนี้ ก่อนที่คุณจะบ่น ลองสำรวจดูใหม่ว่า มีฝันใดที่คุณอาจจะทำให้มันเปลี่ยนชีวิตคุณไปในทางที่ดีขึ้นได้บ้าง และอย่างที่เล่าจื้อบอก "การเดินทางไกลหมื่อลี้เริ่มต้นที่กาวแรก"
ความอึด : เอดิสันบอกว่า "Genius is one percent inspiration and ninety-nine percent perspiration." (อัจฉริยภาพคือหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของแรงบันดาลใจ และอีก 90% เป็นของการทำงานอย่างหนักหน่วง) เบื้องหลังความสำเร็จและงานสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ใช่อัจฉริยภาพ หรือพรสวรรค์ หากคือความอึด
งานยิ่งยาก ผลสำเร็จยิ่งน่าภูมิใจ
ขำขันเรื่องหนึ่งเล่าว่า ชายคนหนึ่งตั้งใจว่ายข้ามแม่น้ำสายใหญ่ เมื่อว่ายไปถึงกลางลำน้ำ เขาเกิดท้อใจ และว่ายน้ำกลับมาที่จุดตั้งต้นอย่างปลอดภัย.. คนจำนวนมากไปไม่ถึงความฝัน มิใช่เพราะพวกเขาด้อยกว่าคนอื่น หากเพราะพวกเขาทิ้งความอดทนไว้กลางทางต่างหาก
การใช้ชีวิตก็เหมือนการเล่นว่าวกลางสายลมแรง
คุณไม่มีเวลามาเปิดตำราว่าต้องทำอย่างไร
ความยาวของหนึ่งวินาที : ไอน์สไตน์เคยบอกว่า หัวใจของทฤษฎีสัมพันทภาพของเขานั่นอธิบายได้ด้วยการเปรียบเทียบดังนี้ "วางมือของคุณบนเตาร้อนหนึ่งนาที มันดูยาวเหมือนหนึ่งชั่วโมง นั่งกับสาวสวยหนึ่งชั่วโมง มันสั้นแค่นาทีเดียว" เราก็อาจใช้เวลาอย่างมีประโยชน์กว่านี้ หากเรารู้ว่าเวลาแต่ละหนึ่งวินาทีนั้นเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว อย่าอ้างว่าเวลาน้อยทำงานอะไรไม่ได้
เวลาหนึ่งนาทีของผึ้งสามารถดูดน้ำหวานจากดอกไม้กลับบ้าน
หนึ่งนาทีของมดสามารถขนเมล็ดข้าวที่หนักกว่าตัวมันไปไกลโข
หนึ่งนาทีของปลวกสามารถสร้างรังของมันให้สูงขึ้น
หนึ่งนาทีของแมลงมุมสามารถถักทอรังของมันเป็นรูปเป็นร่าง
ใบไม้เก่าร่วงหล่นจากต้นสู่โคนเพื่อเป็นปุ๋ยให้ตัวมันเอง
ประสบการณ์ที่เลวร้ายในชีวิตเป็นอาหารวิเศษให้เราเจริญเติบโตขึ้น
สายรุ้ง : คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ในอดีตทำงานหนัก คนเหล่านั้นในส่วนลึกภูมิใจในตนเอง
คนทุกคนในโลกสามารถเป็นครูของเรา
เติมน้ำใสใส่หัวใจ : ภาษิตฝรั่งบอกว่า Don't wait unit people are dead to give them flowers. (รู้จักชมคนบ้าง เพราะบางครั้งการชมผู้อื่นมีค่ามากกว่าสินจ้างรางวัล) การบอกรักผู้อื่น โดยไม่ต้องรอโอกาสพิเศษคือความพิเศษอย่างหนึ่ง ชีวิตมีความงดงามก็ตรงที่เรารู้จักเติมน้ำดีใส่ลงไปในหัวใจอยู่เรื่อยๆ
รอยเท้าเล็กๆ ของเราเอง : การลอกเลียนเพื่อการศึกษาและพัฒนาไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่การก๊อปปี้อย่างหลับหูหลับตาเท่ากับเป็นการส่งเสริมความสำเร็จของต้นแบบ และตอกย้ำว่าตัวเองเป็นเพียง "สาขาย่อย" เท่านั้น บางคนอาจลืมไปว่า ถึงจะลอก ก็ยังต้องออกแรง ยิ่งพยายามกลบเกลื่อนร่องรอยจากต้นแบบมากเท่าใด ก็ยิ่งต้องเหนื่อยมากเท่านั้น 
การเลียนเพื่อรู้เป็นเรื่องดี แต่การรู้เพื่อเลียนไม่ใช่
โลกหมุนไม่หยุดเพราะมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามวิ่งหนีเงาของตนเอง ไปข้างหน้า คนพันธุ์นี้เชื่อว่ามีอะไรใหม่ ๆ รอให้สร้างอยู่เสมอ ไม่มีวันหมด นี่จึงทำให้การสร้างสรรค์มีความหมาย หากไม่สามารถสร้างรอยเท้าของตนเองได้ ก็มิยอมเหยียบบนรอยเท้าของคนอื่น รอยเท้าของตนเองถึงจะจาง แต่ก็เป็นรอยเท้าของเราเอง ย่างก้าวของเราถึงจะสั้นและช้า แต่ก็เป็นก้าวของเราเอง
ไส้เดือนกับมังกร : โลกหมุนไปข้างหน้าด้วยแรงคนฉลาด แต่ก็ถูกถ่วงรั้งด้วยขยะของการคดโกงที่ซ่อนอยู่ในรูปของความฉลาด เด็ก ๆ ซึมซับตัวอย่างจากนิทาน ผู้ใหญ่หลายคนเรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จ โดยไม่นำพาถึงวิธีการ ทว่าผู้มีปัญญาย่อมรู้ความแตกต่างระหว่างไส้เดือนกับพญามังกร
ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่จากโชค
ไม่น่าภูมิใจเท่าความสำเร็จเล็กน้อยด้วยมือของเรา
ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยไม่ใช่ความล้มเหลว ความล้มเหลวคือ
ความคิดที่ว่า ตนเองไม่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิต
หากไม่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
ลอกคราบจากภายใน : คนที่ถูกดูดเข้าไปในอยู่ในใจกลางของพายุหมุนมองไม่เห็นตัวพายุ สุภาษิตฝรั่งว่า "ความงามอยู่ในสายตาของผู้มอง" คนผิวขาวงามอย่างคนผิวขาว ผิวเหลืองงามอย่างผิวเหลือง ผิวดำก็งามอย่างผิวดำ น่าเสียดายที่หลายคนเลือกที่จะยืมสายตาของคนอื่น แทนที่จะใช้สายตาของตัวเอง ชี้นกเป็นไม้ก็เชื่อ ชี้ไม้เป็นนกก็เชื่อ วุฒิภาวะเกิดจากการลอกคราบจากภายใน ไม่ใช่การปกปิดเปลือกภายนอก
มาสาย-กลับดึก : ผมรู้ความจริงภายหลังว่า คนจำนวนมากไม่ยอมออกจากสำนักงานตรงเวลา เพื่อแสดงให้เจ้านายเห็นว่า ตนเองขยันขันแข็ง ยิ่งอยู่ดึก ยิ่งเป็นพนักงานตัวอย่าง เสียสละเพื่อองค์กร น่ายกย่องชมเชย บ่อยครั้งมีผลถึงการได้รับโบนัสตอนท้ายปี เนื่องจากเจ้านายมักเห็นหน้าเห็นตาใครคนนั้นหลังเวลาเลิกงานแล้วเสมอ หากไม่เคยทำงานในต่างประเทศมาก่อน ผมอาจเข้าร่วมวงไพบูลย์ "มาสายกลับดึก" ด้วย แต่หลายปีในชีวิตการทำงานในประเทศที่มีประสิทธิภาพในการจัดการที่สุด ทำให้เห็นค่าเวลาทุกนาทีในชีวิต ผมกลับมองว่าคนที่อยู่ดึกเป็นประจำ คือพวกไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถทำงานให้เสร็จทันเวลา จึงต้องอยู่ดึก ยิ่งทำงานมากชั่วโมงยิ่งแสดงถึงการทำงานโดยไม่มีการวางแผน ไม่มองภาพรวม ลองคิดดู การอยู่ดึกเพื่อทำงานพิเศษหนึ่งคืนหมายถึงค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เครื่องปรับอากาศทำงานมากขึ้น ค่าทะนุบำรุงสูงขึ้น ผลกระทบต่อคนทำงานคือพักผ่อนน้อยกว่าที่ควรเป็น ยิ่งอยู่ดึก ประสิทธิภาพของงานในวันถัดไปยิ่งตกต่ำลง
ปริมาณเวลาในการทำงานชิ้นหนึ่งไม่ได้เป็นสัดส่วนกับคุณภาพของผลงานเสมอไป บ่อยครั้งเป็นปฏิภาคกัน หลายครั้งงานที่ให้เวลาน้อยกลับออกมาดีกว่างานที่ให้เวลามาก คนเก่งไม่เรื่องมาก คนฉลาดจริงไม่มากเรื่อง 

ความรักธรรมชาติมิได้หมายถึงการเดินทางไกลไปชม
สวนใหญ่โต มิใช่การเกลือกกลิ้งบนผืนทราบขาวริมทะเล
หรือการเดินทางขึ้นยอดภูเพื่อชมโลก
ความรักธรรมชาติอาจเป็นเพียงการดูเศษใบไม้ที่ร่วงหล่นตามทาง
การดูซากร่วงโรยของสรรพสิ่ง และสามารถพิศวง
ถึงความงามของความจริง

งานทรมานกับงานในฝัน : งานทรมานมักไม่มีอนาคต เพราะคนทำไม่ใส่หัวใจเข้าไปในงาน งานในฝันเกิดขึ้นได้ยาก หากเห็นงานที่ทำเป็นงานทรมานหรือเป็นฐานชั่วคราวสำหรับกระโดดไปสู่ที่ทำงานใหม่ คนส่วนมากฝันอยากได้งานในฝัน แต่ไม่ยอมลงทุนแรงและหัวใจ งานในฝันคือความต่อเนื่อง บ่อยครั้งมันไม่หยุดแม้เลยกำหนดเวลาทำงานไปแล้ว งานทุกชิ้นที่เราทำ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ทับถมกันเป็นประสบการณ์ ยิ่งทำมากประสบการณ์ยิ่งเข้มข้นตรึงแน่นในวิญญาณของคุณ ไม่มีใครแย่งเอาประสบการณ์ไปจากคุณได้ของใหม่ : การยึดติดกับสิ่งของอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพราะหาของใหม่มาทดแทนได้เสมอ แต่การติดยึดกับตัวตนแก้ยากกว่านัก ความเก่าความแก่ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ความงามมิใช่เกิดจากภายนอกอย่างเดียว สรรพสิ่งย่อมต้องสลายไป แก่ก็งดงามอย่างแก่ได้ การไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงจาก "ของใหม่" ไปสู่ "ของเก่า" จึงเท่ากับเป็นการใช้ชีวิต "ใหม่" ทุกวันเพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ และไม่ว่าจะดิ้นรนอย่างไร ท้ายที่สุดก็พบว่าหนีสัจธรรมแห่งการเปลี่ยนแปลงไปไม่พ้น
อภัยทาน
:
เมื่อประสบเรื่องที่คนอื่นทำให้ตนเจ็บปวด บางคนเลือกที่จะลืม บางคนอาฆาตไว้จนวันตาย หากสามารถปล่อยวางความโกรธแค้นนี้ได้เร็วเท่าใด ความเสียหายรวมก็ลดลงเท่านั้น และเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถปล่อยวางก็มีเพียงชนิดเดียวคือ การให้อภัย การให้อภัยจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ "ถูก" ที่สุด มหาตมะ คานธี ผู้ที่ทั้งชีวิตประสบแต่การถูกทำร้ายทั้งกายและใจ เรียนรู้ว่า ระบบตาต่อตา ฟันต่อฟันไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น ท่านกล่าวว่า "คนอ่อนแอไม่สามารถให้อภัยใคร การให้อภัยเป็นคุณสมบัติของคนเข้มแข็ง" 

เคยเห็นผึ้งฆ่าตัวตายไหม
เคยได้ยินมดบ่นไหม
เคยได้ยินนกนินทาชาวบ้านไหม
หรือว่าพวกมันรู้ว่ามีเวลาเหลือบนโลกนี้เพียงเล็กน้อย
จึงไม่ยอมไปเสียเวลาทำเรื่องไร้ความหมาย
"ช่างมัน ฉันไม่แคร์" : หลายคนกวาดความปรารถนาหลายอย่างในชีวิตเข้าไปซ่อนใต้พรมความคิด เพราะความต้องการเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ผิด หลายคนไม่กล้าทำอะไร เพราะถูกค้ำคอด้วยข้อบังคับนานาประการ ตั้งแต่ค่านิยมของสังคม ศีลธรรม ความกลัว ความละอาย ไปจนถึงชื่อเสียง เกียรติยศที่สร้างสมมา บางครั้งชีวิตอาจมีความสุขขึ้นเมื่อเราสามารถปัดฝุ่น ใต้พรมออกบ้าง ละวางความคิดความเชื่อความกลัวบางอย่าง โดยการเอ่ยว่า "ช่างมัน ฉันไม่แคร์"
ไม้ผลัด : ความล้มเหลวมักทิ้งเชื้อของความสำเร็จไว้เสมอ ธอมัส เอดิสัน บอกเสมอเมื่อการทดลองของเขาล้มเหลวว่า "ผมไม่ได้ล้มเหลวสักหน่อย ผมเพิ่งค้นพบกว่าหมื่นวิธีที่ไม่สำเร็จ" บางทีก่อนที่เราจะสาปแช่งความล้มเหลวของเราในวันนี้ ลองมองว่ามันอาจเป็นรากฐานของความสำเร็จในวันพรุ่งนี้ แม้ว่าเราไม่ได้ยืนอยู่ที่นั่นในวันนั้นก็ตาม แต่เราก็ภูมิใจได้ว่าความล้มเหลวของเราเป็นรากฐานของความสำเร็จที่จะเกิด ขึ้นในวันหนึ่ง 
หากไม่มีกลางคืน หิ่งห้อยคงไมม่สามารถเปล่งแสงแสนสวยออกมาให้เราชม
หากไม่มีอุปสรรค เราก็คงไม่มีวันใช้ขีดความสามารถของเราถึงที่สุด
งานใหญ่กับงานยิ่งใหญ่ : ไม่ทุกคนในโลกที่สามารถทำงานใหญ่ แต่เราทุกคนสามารถทำงานเล็กด้วยพลังกายใจเดียวกับการทำงานใหญ่
พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ก็ตกใหม่อีก
 
   มนุษย์ทุกคนล้วนมีความฝัน แต่หลายคนผ่านมาครึ่งชีวิตก็ไม่อาจทำฝันให้เป็นจริง อุปสรรคของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ของบางคนคือความกลัว ของอีกบางคนคือความท้อแท้ ความเศร้าหมอง ความเบื่อหน่าย
   เหล่านี้คือเชื้อโรคแห่งอารมณ์ที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระในหัวใจ บางคนกวาดขยะเข้าไปซ่อนไว้ใต้พรม หลับตาลืมมันเสีย แต่ทุกครั้งที่ลืมตา ปัญหาก็รออยู่ตรงหน้าเราเช่นเดิม นานวันเข้าขยะที่เก็บสะสมไว้ก็เน่าเหม็น
มองไปรอบตัว เราหกพันล้านคนอาศัยร่วมโลกยุคที่พัฒนาที่สุดยุคหนึ่ง แต่ยิ่งเรามีพร้อมแทบทุกอย่าง กลับยิ่งดูเศร้าหมอง ไร้สุข
ชีวิตที่ดีกับชีวิตที่หม่นหมองต่างกันด้วยคำๆ เดียว ทัศนคติ
ทัศนคติที่ดีคือการไม่ยอมแพ้เมื่อหกล้ม ลุกขึ้นมาก้าวเดินไปข้างหน้า สร้างรอยเท้าของตนให้ปรากฏบนผืนโลก เพราะแม้จะจางและเล็ก แต่ก็เป็นรอยเท้าของเราเอง
รอยเท้าเล็กๆ ของเราเอง เล่มนี้เป็นหนังสือเสริมกำลังใจ เพราะชีวิตยังมีความหมาย และเพราะใจของคนเราก็เช่นเดียวกับเครื่องยนต์ ต้องทำความสะอาด เปลี่ยนน้ำมันเครื่องสม่ำเสมอ
แวะเว็บไซต์ วินทร์ เลียววาริณ ได้ที่
winbookclub.com

7 ม.ค. 2555

ก่อร่าง สร้างใจ - พระไพศาล วิสาโล

"ความเป็นครูนั้นมิได้อยู่ที่ความรู้และทักษะการสอนเท่านั้น การเป็นแบบอย่างทางด้านวิถีชีวิตที่นักเรียนสัมผัสได้ เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของความเป็นครูก็ว่าได้
เพราะสิ่งนี้จะประทับแน่นในใจของนักเรียน และส่งผลต่อชีวิตของเขาได้ยั่งยืนยาวนานกว่าความรู้ในห้องเรียนซึ่งส่วนใหญ่มักจะลืมเลือนตามกาลเวลา"

  พระไพศาล วิสาโล 
วัดมหาปวารณา
4 ตุลาคม 2552

  วันที่ 31 ธันวาคม 2554 ผมเดินทางออกจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาหรือโรงเรียนนอกกะลา เวลา 06:45 น. โดยขอติดรถกลับบ้านพร้อมครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง 
ครูใหญ่ให้ผมยืมหนังสือเล่มนี้มาอ่าน ในช่วงวันหยุดยาว ช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่บ้านเกิดจังหวัดนครพนม
ในความรู้สึกส่วนตัวชอบงานเขียนตามแบบของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล และแนวการเขียนงานของท่าน ว.วชิรเมธี อยู่มาก่อนแล้ว
หนังสือเล่มนี้ได้แบ่งออกเป็น 6 ตอน ดังนี้ พาใจกลับบ้าน, พอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้, สติรักษาใจ, วางใจให้เป็น, ปล่อยวางตัวตน, อยู่สบาย ตายสงบ

ตอนที่ ๑ พาใจกลับบ้าน
เราบอกว่ารักตัวเอง แต่ทำไมเรามักจะทนอยู่กับตัวเองไม่ค่อยได้
ที่วุ่นวายกันทั้งชีวิตก็เพราะไม่สามารถมีความสุขจากการอยู่คนเดียว นิ่งๆ ได้
ความทุกข์ของคนเรามันเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่ว่าเราทนอยู่กับตัวเองไม่ได้
เราไม่สามารถจะมีความสุขกับการอยู่นิ่งๆ กับตัวเองได้ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับคนที่บอกว่าฉันรักตัวเองทั้งนั้น
การรักตัวเองแบบที่เราคิดและทำกันเป็นประจะคือตามใจ หรือปรนเปรอตัวเอง อันนี้ก็ไม่ต่างกับการตามใจลูกด้วยความรัก คนที่ตามใจลูกด้วยความรัก เราเรียกว่ารักลูกไม่ถูก สุดท้ายลูกก็กลายเป็นคนอ่อนแอ ตามใจตัวเอง กลายเป็นเด็กเกเรหรือคนหยาบกระด้าง
ใจเราก็เหมือนกัน
ถ้าเราตามใจตัวเองไปเรื่อยๆ มันจะกลายเป็นการทำร้ายตัวเอง ทำให้ใจของเราอ่อนแอ หยาบกระด้าง เห็นแก่ตัว การรักตัวเองกับการตามใจตัวเองนี้ไม่เหมือนกัน
รักตัวเองก็คือว่าแยกแยะได้ว่าอะไรคือความถูกใจ อะไรคือความถูกต้อง สิ่งที่ถูกใจมันมักจะไม่ถูกต้อง
ถ้าเราเอาแต่ความถูกใจเราก็ยิ่งออกห่างจากความถูกต้อง และเมื่อห่างจากความถูกต้องแล้วก็จะเกิดโทษกับตัวเอง การทำตามใจกลับกลายเป็นการทำร้ายตัวเอง
รักตัวเอง หมายถึง การรู้ว่าอะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง รู้ว่าถูกใจกับถูกต้องไม่เหมือนกัน รู้จักทำสิ่งที่ถูกต้องให้กับร่างกาย ทำสิ่งที่ถูกต้องให้กับชีวิต แม้มันไม่ถูกใจ แต่เป็นประโยชน์กับร่างกาย เราก็จะทำ เราจะหามาให้ อันนี้เรียกว่ารักตัวเองอย่างแท้จริง
การรักตัวเองก็ คือ การเรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเองอย่างมีความสุขและมีสันติ รวมทั้งการรู้จักสละที่ทำความทุกข์ให้กับจิตใจออกไป
การรักตัวเอง หมายถึง รู้จักปล่อยรู้จักวางอารมณ์ที่มาปั่นทอนทำร้ายตัวเอง
ถ้ารักตัวเองก็ต้องเห็นความจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนจิตใจของตนแม้ว่าจะยากลำบาก แต่ก็ไม่เลิก เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะไม่ถูกใจนัก แต่มันก็สิ่งถูกต้อง เราก็ต้องเพียรพยายามจนประสบผลคือได้รับ ความสุขความสงบเย็น อันนี้คือการรักตัวเองอย่างถูกต้อง
รักตัวเอง ต้องเริ่มต้นจากการรู้จักตัวเอง พร้อมที่จะมาฝึกเพื่อให้เกิดสติ เพื่อให้เกิดปัญญา เพื่อให้รู้จักตัวเอง
เราจะรู้จักใจของเราได้อย่างไร? ก็รู้ด้วยสติ
การปฏิบัติธรรม คือ การเจริญสติ แต่จะเจริญสติได้ต้องกลับมาดูใจของเราอยู่เรื่อยๆ นี่แหละคือการคืนสู่เหย้า คืนสู่บ้านที่แท้จริงของเรา จึงเป็นเรื่องน่ายินดี
กลับมาดูใจของเรา หมั่นพาใจให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวไม่กระเจิดกระเจิงออกไปนอกตัว นี่คือ 'การคืนสู่เหย้า'

ตอนที่ ๒ พอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้
จริงๆ แล้วจะสุขหรือทุกข์ไม่ได้อยู่ที่สิ่งแวดล้อมภายนอก แต่อยู่ที่ใจของเรา
ความสุขไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเสพอะไรอยู่ แพงหรือถูกไม่สำคัญ แต่อยู่ที่ว่าใจเราขณะนั้นเป็นอย่างไร
เราจะไม่มีความสุขเลย ตราบใดที่ใจของเราวางไม่ถูก เราก็จะทุกข์ได้ง่ายๆ
มีคนเคยถามนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดให้เลือกระหว่าง
1) คุณได้โบนัส 100,000$ แต่เพื่อนได้ 200,000$ หรือ
2) คุณได้โบนัส 50,000$ แต่เพื่อนได้ 25,000$ คุณจะเลือกข้อไหน
ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่เลือกข้อสอง ทำไมถึงเลือกข้อนี้ ทั้งๆ ที่ได้โบนัสน้อยกว่าข้อแรก ก็เพราะได้มากกว่าคนอื่นนั้นเอง
การเปรียบเทียบกับคนอื่น ทำให้เราทุกข์ได้ง่าย และมักทำให้เราเลือกทำบางอย่างที่ดูไม่สมเหตุสมผล เช่น เลือก 50,000$ แทนที่จะเลือก 100,000$
ถ้าเราหัดชื่นชมยินดีกับเขาบ้าง เราก็จะไม่ทุกข์ แต่ที่เราทุกข์เพราะเราคิดจะแข่งขันหรือเปรียบเทียบกับคนอื่นในทุกเรื่อง
การเปรียบเทียบทำใหเราไม่พอใจสิ่งที่มีอยู่แล้ว ตรงกันข้ามถ้าคนเราพอใจสิ่งที่มีก็จะมีความสุขมาก
ถ้าคนเราพอใจสิ่งที่มี ความสุขก็เกิดขึ้นได้ง่ายมาก
ทำไมเราต้องค่อยให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งจากเราไปเสียก่อนเราถึงจะเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น ทำไมเราไม่เห็นคุณค่าเมื่อสิ่งนั้นยังอยู่กับเราในขณะนี้ สิ่งที่เรามีอยู่ในขณะนี้ล้วนมีค่ามีประโยชน์ทั้งนั้น แต่เราอาจจะมองข้ามไป
การที่เราไม่สามารถยอมรับความเป็นจริงได้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของความทุกข์
ความทุกข์ของคนเราเกิดจากที่ใจของเราไม่ยอมรับความจริง
ถ้าเรายอมรับความจริงไม่ได้ว่ามันจากเราไปแล้ว เราจะทุกข์ไม่เลิก ความเศร้าโศกเสียใจ คือ อาการที่แสดงว่าเราไม่ยอมปล่อยวางอดีตและไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
การยึดติดอดีต อาลัยอดีต ทำให้เรายอมรับความจริงไม่ได้ ถ้าความจริงที่เกิดขึ้นนั้นตรงข้ามกับอดีต
คนเราถึงแม้จะล้ม แต่ถ้าเรายอมรับความจริงได้ก็จะไม่ทุกข์มาก มองในแง่ดีมันทำให้เราได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และมีบทเรียนมากขึ้น ความล้มเหลวหรืออุปสรรค ถ้าเรารู้จักมองแง่บวกมันจะกลายเป็นของดี
คนเราถ้ารู้จักมองแง่ดี เจอปัญหาอะไรก็รับมือ
สติช่วยให้เราตั้งหลักได้ ยิ่งรู้จักปล่อยวาง กลับมาอยู่กับปัจจุบันไม่อาลัยอดีตหรือกังวลกับอนาคต ก็จะเกิดปัญญา สามารถพลิกจากร้ายกลายเป็นดี จากเดิมที่จมอยู่ในความมืดมนก็กลับมาเห็นแสงสว่าง


ตอนที่ ๓ สติรักษาใจ
สติแปลว่าไม่ลืม สัมปชัญญะแปลว่าไม่หลง - สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัว
คนเราทุกข์เพราะความหลงลืม คือ ไม่มีสติ ไม่มีสัปชัญญะ
สติทำให้เราอยู่กับปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หลงไปจมอยู่กับอดีตหรืออนาคต หรือมัวเทียบเคียงกับคนอื่น
สัมมาสติ คือความระลึกได้ในเรื่องกาย ใจ หรือเรื่องตัวเอง
สติทำให้เราเห็นความเครียด เห็นความปวด เห็นความโกรธ
เคยมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ ท่านเป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่มั่นท่านมรณภาพไปนานแล้ว ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ คนลือกันว่าท่านเป็นพระอรหันต์
คราวหนึ่งมีคนไปถามหลวงปู่ดูลย์ว่า "หลวงปู่มีโกรษไหม" ท่านบอกว่า "มีแต่ไม่เอา"
การเจริญสติ คือการเปิดใจยอมให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ แต่เกิดขึ้นแล้วรู้ทัน ไม่หลงจมเข้าไปกับมัน ถ้าหลงเข้าไปก็ให้รู้ตัวไวๆ ระลึกได้เมื่อไรใจก็จะถอนออกมา จากเดิมที่เป็นผู้โกรษ ผู้เครียด ก็กลายเป็นเห็นความโกรษ เห็นความเครียดแทน

ตอนที่ ๔ วางใจให้เป็น
พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของผู้ที่สามารถในการพัฒนาจิตจนเรียกว่าทะลุเพดาน คือข้ามพ้นความเป็นมนุษญ์ไปเลย
สติของเราตอนนี้อาจจะเป็นแค่เมล็ดหรือต้นกล้า แต่ถ้าเราอบรมบ่มเพาะไม่หยุดก็จะเจริญงอกงาม
ถ้าเจริญสติดี กายกับใจอยู่ด้วยกัน กายอยู่ไหนใจอยู่นั่น
ใจอยู่กับเนื้อกับตัว คือ มีสติ

ตอนที่ ๕ ปล่อยวางตัวตน
ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเราเผลอไปยึดติดหรือไปแบกเอาไว้
นอกจากอดีตกับอนาคต เรายังเอาเรื่องที่เห็นอยู่ต่อหน้าต่อตาไปปรุงให้กลายเป็นเรื่องร้าย
การปรุงแต่งยังรวมถึงการให้ค่าว่า อย่างนี้ดี อย่างนี้เลว
คำพูดหรือเหตุการณ์ต่างๆ ก็เช่นกัน มันทำอะไรเราไม่ได้ ถ้าเราไม่ไปยึดมัน
สติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าสติทำให้เรารู้ตัวและไม่ลืมตัว ช่วยให้เราปล่อยวางได้
ถ้าเรามีสติ ใจก็หลุดจากอารมณ์ หายหลง หันมาทำสิ่งที่ถูกต้อง รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อะไรถูก อะไรผิด
สว่างคือเกิดปัญญาแล้วปล่อยวางได้ ปล่อยวางความยึดติด ถือมั่นในตัวกูของกู นี้เป็นเรื่องที่ชาวพุทธเราควรจะเข้าใจ ถึงแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ว่ามันช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง
ให้อยู่กับปัจจุบัน อย่างไปอยู่กับจุดหมายปลายทางมาก มันเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เป็นอนาคตที่ไม่ควรยึดติด

ตอนที่ ๖ อยู่สบาย ตายสงบ
มีคนไข้จำนวนมากที่ทุรนทุราย แต่พอมีคนมีคนฟังหรือเอาใจใส่ ก็รู้สึกดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้ยา
ถ้าคนเราใจไม่สงบ มีความวิตกกังวล มีความหวาดกลัว หรือมีความน้อยเนื้อต่ำใจ ก็ทำให้กายทุกข์หรือปวดเพิ่มขึ้น
จิตใจเป็นเรื่องสำคัญมาก เวลาใครป่วย เรามักสนใจแต่เรื่องร่างกาย จึงพึ่งพาเทคโนโลยีนานาชนิด ทั้งเครื่องช่วยหายใจ เครื่องกระตุ้นหัวใจ ยากระตุ้นความดัน ยาระงับปวดสารพัด แต่สิ่งที่มองข้ามไปก็คือการเยียวยาจิตใจ
มรณสติ คือ การระลึกว่าสักวันหนึ่งเราจะต้องตาย
ถ้าเรายังมีความกังวลอยู่ ยากมากที่จะตายสงบได้ บางคนถึงกับขัดขืน ไม่ยอมตาย พยายามต่อสู้กับความตายเพราะยังห่วงลูกอยู่
การปล่อยวางเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากจะทำดีแล้ว เราต้องรู้จักปล่อยวางด้วย
ถ้าเราพิจารณาและระลึกถึงความตายอยู่เสมอใจหนึ่งอาจจะกลัวอาจจะวิตก แต่ว่าความกลัวก็มีข้อดี คือทำให้เราขวนขวายทำความเพียรทำความดี ฝึกใจให้ปล่อยวาง และพยายามทำหน้าที่ของตัวให้ดี รวมทั้งทำสิ่งที่พึ่งทำกับคนอื่นให้ครบถ้วนหรือเสร็จสิ้น ถ้าไม่มีอะไรค้างคาใจทำเสร็จสิ้น เราก็พร้อมไป หรือพร้อมรับการจากไปของคนรักได้เสมอ

"เมื่อใดที่เรารู้จักตัวเองจริงๆ เราจึงจะเป็นมิตรกับตัวเองได้ เมื่อนั้นเราจึงจะรักษาตัวเองอย่างแท้จริง ยิ่งรักตัวเองมากเท่าไร ก็ยิ่งตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องดูแลรักษาใจ เพื่อป้องกันไม่ให้ความลืมตัวและอารมณ์อกุศลทั้งมวลมาย่ำยีบีทา ไม่มีอะไรที่จะคุ้มครองใจได้ดีเท่ากับธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่งใจที่มีธรรม เป็นรากฐานจะมีความมั่นคงเข้มแข็ง กระทั่งภัยใดๆ ก็มิอาจทำให้หวั่นไหวคลอนแคลนได้"

พระไพศาล วิสาโล