"การศึกษา" เพื่อปลดปล่อยผู้คนให้เป็นอิสระ
จิตวิญญาณอิสระ
จิตวิญญาณของเราทุกคนมีความเป็นอิสระแล้วตั้งแต่ต้น
เราปรากฏขึ้นมาในจักรวาลพร้อมกับความบริสุทธิ์ผุดผ่อง
ไม่มีความรู้สึกว่าสิ่งใดดีไม่ดี ไม่มีสิ่งใดชอบหรือไม่ชอบ
ปราศจากการรับรู้ว่าสิ่งใดมีอยู่หนือไม่มีอยู่ ไม่มีแม้แต่เจตจำนงใดๆ
-ปาฏิหาริย์การศึกษา (หน้า5)
นักเขียนที่ผมชอบมากที่สุดในชีวิต "วินทร์ เลียววาริณ"
ได้เขียนเรื่องเดินเท้าไปโรงเรียน (18 พฤษภาคม 2556) ผมอ่านเมื่อ 6 เดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งบางมุมในเรื่องนี้ใกล้เคียงกับชีวิตของผมตอนเป็นเด็กๆ ช่วงเรียนประถมศึกษา และมัธยมตอนต้น จ.นครพนม
ความลำบากบางครั้งเป็นทักษะที่ไม่สามารถหาซื้อมาได้จากใครๆ
ประสบการณ์เดียวกัน อาจจะสอนคนแต่ละคนต่างกัน
อับราฮัม ลิงคอล์น วัยสิบขวบ เดินเท้าระยะทาง 6 กิโลเมตรครึ่งเพื่อไปโรงเรียนทุกวัน ค่าเรียน 2 ดอลลาร์ต่อปีจัดว่าไม่น้อย แต่ในสายตาของชาวบ้านหลายคน การเดินทางไกลเพื่อไปรับการศึกษาเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า เพราะท้ายที่สุดพวกเขาก็ยังคงต้องทำไร่ทำนา
การศึกษานั้นนำพา อับราฮัม ลิงคอล์น ไปถึงทำเนียบขาว!ระยะทาง 6 กิโลเมตรในพื้นที่ป่าจัดว่าไกลและลำบากเอาการสำหรับการเดินเท้าไปกลับทุกวัน แต่มันอาจเทียบไม่ได้กับระยะทางที่เด็กอื่นๆ ทั่วโลกเดินกัน
ปัจจุบันเด็กๆ ชาวอัฟริกาใต้กว่าเก้าล้านคนเดินเท้าไปโรงเรียน ในจำนวนนี้สามล้านคนต้องเดินนานกว่าหนึ่งชั่วโมง ในชนบทบางท้องที่ เด็กต้องเดินถึงสี่ชั่วโมงเพื่อไปเรียนหนังสือ ในขณะที่เด็กอัฟริกันเดินฝ่าทุ่งร้อน เด็กชาวหิมาลัยเดินฝ่าทุ่งน้ำแข็งอันตรายเพื่อไปโรงเรียน และเด็กไทยในชนบทเดินฝ่าดงดอยหลายกิโลเมตรไปหาวิชาความรู้
ในท้องที่ห่างไกลความเจริญและด้อยโอกาส การได้ไปโรงเรียนถือว่าเป็นของขวัญที่สวรรค์ประทาน มันเป็นหนังสือเดินทางไปสู่ความหวัง ความสำเร็จ และการลืมตาอ้าปากได้ พวกเขาเชื่อว่าการศึกษาจะสร้างความแตกต่างให้ชีวิต ดังนั้นไม่มีใครบ่นเรื่องเดินเท้าไปเรียน
เด็กพวกนี้จัดว่าโชคดี เพราะแม้โลกหมุนมาถึงศตวรรษที่ 21 แล้ว เด็กหลายร้อยล้านคนทั่วโลกยังไม่มีโอกาสเล่าเรียนหนังสือ จำนวนมากกลายเป็นแรงงานเด็ก มิพักเอ่ยถึงเด็กหญิง โอกาสที่จะได้เรียนหนังสือน้อยกว่าน้อย เพราะพ่อแม่เห็นว่าเรียนไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร โตเป็นสาวก็แต่งงานมีเหย้ามีเรือน งานของผู้หญิงคือทำงานบ้าน เลี้ยงลูก ปรนนิบัติสามี ไม่ใช่อ่านหนังสือ
ระยะทางจากบ้านไปโรงเรียนนับสิบหรือหลายสิบกิโลเมตรเป็นเพียงขั้นแรกของการเดินทางไกลสู่ความฝัน เป็นการสร้างความแตกต่างให้ชีวิต
สำหรับคนด้อยโอกาส การสร้างความแตกต่างใดๆ ให้ชีวิตเป็นเรื่องที่สมควรทำ!
ระยะทางจากบ้านไปโรงเรียนของ พรทิพย์ ปานอินทร์ มิเพียงไกลอย่างยิ่ง มันยังผ่านโรงรับจำนำ การกู้ยืม การขอทุน ทุกครั้งที่โรงเรียนเปิดเทอมเป็นฝันร้ายของพ่อแม่ มันหมายถึงการหาข้าวของบางชิ้นไปที่โรงรับจำนำ
|
พรทิพย์ ปานอินทร์ |
พรทิพย์เกิดในสลัมคลองเตย ในครอบครัวที่รายได้แทบไม่พอยาไส้ พี่ชายกับพี่สาวมีโอกาสเรียนแค่ชั้น ม. 3 ก็ต้องออกจากโรงเรียนมาหางานทำ ในฐานะลูกคนสุดท้อง ครอบครัวอยากให้เธอเรียนให้จบ เพราะยังเชื่อว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือเดียวที่น่าจะสร้างความแตกต่างได้
แต่การไปโรงเรียนสำหรับคนที่คนเกิดและโตในสลัม หาเช้ากินค่ำเต็มไปด้วยอุปสรรค ในสายตาและความเชื่อของคนส่วนมาก สลัมมีภาพลักษณ์ของความล้มเหลวอยู่ในที ความยากจน การไม่มีโอกาสรับการศึกษา ยาเสพติด อาชญากรรม มันไม่ใช่ภาพจริงทั้งหมด แต่มันก็สะท้อนความจริงหลายภาพ ที่แน่ๆ คือที่นี่ไม่ใช่สภาพแวดล้อมซึ่งเอื้อให้เด็กมีโอกาสทางการศึกษา ย่อมไม่มีใครโทษใครสักคนที่นี่ว่าไม่เรียนหนังสือ
ชีวิตในชุมชนลำบาก น้ำท่วมซอยทุกครั้งเมื่อฝนตกหนักจนต้องลุยน้ำเข้าบ้าน รายได้หามาได้เท่าไรก็ดูเหมือนไม่เคยพอ เธอต้องเรียนหนักกว่าคนอื่นหลายเท่า ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง แต่เมื่อเลือกมาทางนี้ ก็ต้องไปให้สุดทาง
โลกคือการแข่งขัน ไม่ว่าจะอยากแข่งหรือไม่ เราก็ไม่มีทางเลือก เราทุกคนเป็นต้นไม้ในป่าใหญ่ ต้องเอาตัวรอดเอาเอง เป้าหมายของเกมแห่งชีวิตคือต่อยอดชูใบให้ถึงฟ้า
คนที่มีโอกาสย่อมพร้อมกว่าในการแตกรากชูใบถึงฟ้า คนที่ไร้โอกาสต้องดิ้นรนหนักกว่าหลายเท่า แต่มันเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายเดียวกัน เหมือนต้นไม้ต้นเล็กๆ ที่ถูกขนาบด้วยเหล่าไม้ใหญ่พยายามจะงอกรากในพื้นที่แคบๆ เติบโตขึ้น แต่หากมองให้ดี จะพบเห็นช่องว่างของดินเพื่อหยั่งราก ช่องว่างของฟ้าที่มีแสงแดดเพื่อระบัดใบ
การศึกษาเป็นเครื่องมือ เป็นแสงแดด เป็นน้ำ เป็นปุ๋ย ไม่ว่าจะมีโอกาสเข้าห้องเรียนหรือไม่ เราทุกคนก็ต้องเรียน ไม่ว่าจะเรียนจากระบบโรงเรียน หรือเรียนเองจากการใช้ชีวิตจริง
คนฉลาดเลือกเรียนเมื่อมีโอกาสเรียน พวกเขาเชื่อว่าโอกาสนั้นไม่เคยมี เราต้องสร้างโอกาสของเราขึ้นมาเอง
น่าเสียดายที่คนมีโอกาสจำนวนมากทิ้งโอกาสทองของชีวิต ไม่เรียนหนังสือ หรือเรียนแบบขอไปที นักศึกษาจำนวนมากเรียนไปโดยไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร ท่องจำเพื่อให้สอบผ่าน บางคนเรียนตามเพื่อน ฯลฯ
บางทีพวกเขาไม่เคยเห็นภาพเด็กเดินฝ่าทุ่งร้อน ทุ่งน้ำแข็งเพื่อไปโรงเรียน...
น่าเสียดายที่พวกเขาไม่เคยเห็นภาพเด็กเดินฝ่าทุ่งร้อน ทุ่งน้ำแข็งเพื่อไปโรงเรียน!
และนี่คือความแตกต่างระหว่างคนมีโอกาสที่ทิ้งโอกาสกับคนด้อยโอกาสที่สร้างโอกาส
เดือนเมษายนที่ผ่านมา พรทิพย์ ปานอินทร์ เรียนจบชั้นปริญญาเอกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นดอกเตอร์คนแรกของสลัมคลองเตย ระยะทางเดินสองเท้าของเธอผ่านปริญญาตรีคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่งและการไปฝึกงานในต่างประเทศ
การเดินไปถึงปลายฝันของเธอบอกเราว่า เมื่อมีความฝัน มีแรงสู้ มีความอดทน ความสำเร็จย่อมไม่ใช่อุบัติเหตุ
www.winbookclub.com
ทุกๆเรื่องของคุณวินทร์ จะมาเรียบเรียงเป็นหนังสือเสริมกำลังใจ
ขอบคุณประสบการณ์ที่โหดร้าย ช่วงที่ผ่านมา..