ทุกคนปรารถนาที่จะมีความสุขใช่ไหม
ทุกคนปรารถนาที่จะมีสภาพแวดล้อมที่ดีใช่ไหม
ทุกคนปรารถนาที่อยู่แวดล้อมไปด้วยผู้คนดี ๆ ใช่ไหม
แต่ทุกคนรอให้คนอื่นสร้างให้ แต่ผมอยากให้เด็ก ๆ เหล่านี้สร้างให้ตัวเอง ได้กี่คนก็เอา แต่เขาจะเป็นคนสร้าง
“ทำไมเราต้องใช้ทฤษฎีแนวคิดการศึกษาจากต่างประเทศ ทำไมเราไม่มีแนวคิดหรือทฤษฎี ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย”
◌◌◌◌◌◌
1. เขย่ากรอบคิดเรื่องการศึกษา
ถ้าอยากจะให้การศึกษา เพื่อช่วยให้คนบ้านเมืองเราดีขึ้น จะต้องเขย่ากรอบความคิด ในเรื่องเป้าหมายการศึกษาเสียใหม่
กรอบความคิดเดิม ๆ ที่ว่านี่บ่มเพาะคนมาเกือบ 150 ปี ซึ่งในตอนนั้นก็อาจจะดี เช่น ความคิดในเรื่องของการสร้างความรู้เป็นหลัก เอาเรื่องนี้เรื่องเดียว ที่บอกว่า การศึกษาคือการให้ความรู้
ความคิดนี้มันติดเข้ามาตั้ง 100 กว่าปีก่อน ตั้งแต่เริ่มจัดการศึกษาให้ประชาชน โรงเรียนคือสถานที่ให้ความรู้คน รูปแบบก็คือการให้ความรู้ การยัดเยียดความรู้ ซึ่งมันก็เหมาะในยุคนั้น เพราะยุคนั้นองค์ความรู้มันมีน้อย เครื่องไม้เครื่องมือที่จะเท่าทันความรู้มันน้อย
แต่พอมา 150 ปีหลัง กรอบความคิดนี้ก็ยังอยู่ แต่โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว อย่างมหาศาล
องค์ความรู้มีเพิ่มพูนมากมายหลายเท่าทวีคูณ ไม่มีมนุษย์คนไหนเรียนรู้ได้หมด แต่กรอบความคิดเก่า ๆ ของเราก็ยังอยู่แบบเดิม คือฉันจะยัดความรู้ แบบนี้แล้วเด็กของเราจะทันการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนกรอบความคิดนี้มาเป็น สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ให้ได้ เด็กไม่ต้องรู้ไม่เก่งมากนักหรอก ขอแค่เป็นนักเรียนรู้ที่เก่ง เขาสามารถสร้างความรู้หรือ สามารถแสวงหาความรู้ที่จำเป็นและมีความหมายต่อเขาได้ในอนาคต
เพราะสิ่งที่คนแต่ละคนจำเป็นต้องใช้นั้นไม่เหมือนกัน การยัดความรู้ที่เป็นแบบแพ็กเกจเดียวกัน ความคิดแบบนี้ผิด ใช้สมองเปลืองไปเปล่าๆ เพราะไปเก็บความรู้ไม่จำเป็น นี่คืออันที่หนึ่ง
การศึกษาทุกวันนี้ ไม่เหมาะเพราะสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนไปเยอะ แบบเดิมมันใช้ไม่ได้ผลแล้ว มันต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ ครู 4 แสนคน กับเด็ก 10 ล้านคน มันจะมางมโข่งกับวิธีการเก่า ๆ หรือกรอบคิดเก่า ๆ ไม่ได้ ไม่ทัน
◌◌◌◌◌◌
2. เขย่ากรอบคิด เรื่องการประเมินผล
เขย่าวิธีการวัดผลและประเมินผล ทำให้เขาเห็นว่า วิธีการวัดผลที่มีอยู่เดิมนั้น มันมีปัญหาแล้วหละ เวลาคุณวัดผลโดยการสอบหรือแม้แต่การประเมินโรงเรียนโดย สมศ. ก็ส่วนมากก็มักเป็นดัชนีที่เฉี่ยวไปเฉี่ยวมา ไม่ตรงกับของจริงและไม่รอบด้าน
เช่นถ้าเราสอบ สอบกันตะบี้ตะวัน สอบจนถึงเอ็นทรานซ์ก็ยังสอบ ถามหน่อย เวลาสอบเรามั่นใจได้หรอว่า ข้อสอบนั้นมันวัดได้ตรงตามความจริงที่มีในคนนั้น ไม่ใช่ความรู้นะครับ มันคือความจริงในคนนั้น วัดรอบด้านด้วย
แต่แบบเก่านี่คือเฉี่ยวนะครับแล้วก็ติดค่าว่า นี่คือผลของคนนี้ และสุดท้าย ต่อให้เราจัดการเรียนการสอนดีแค่ไหน ถ้าวิธีวัดผลไม่เปลี่ยน เด็ก ๆ ยังกระเสือกกระสนเข้าสู่การติว เพื่อให้ผ่านการวัดแบบนั้น
การสอนเพื่อสร้างให้คนเกิดการเรียนรู้มันจบเลย เพราะเขาไม่ได้วัดการเรียนรู้ แต่เขาวัดว่ามีความรู้แค่ไหน ดังนั้น เราต้องเขย่าวิธีการนี้
โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจึงเป็นโรงเรียนที่ไม่มีการสอบเลย แต่ทำการประเมินและวัดผลรอบด้าน ด้วยเครื่องมือที่หลากหลายและเราทำได้จริงๆ ด้วย จากสภาพจริงที่เกิดขึ้น เราจะทำให้ดูว่าการวัดโดยไม่มีการสอบนั้นมันทำได้ แถมเห็นค่าของคน ๆ นั้นด้วย ตรงด้วย
เวลาเราจัดกิจกรรมลงไป เราจะตั้งธงไปว่าเราอยากให้เขาเข้าใจเรื่องอะไร จากนั้นสิ่งที่จะแสดงความเข้าใจนั่นคือชิ้นงานและภาระงานใด เราจะดูชิ้นงานและภาระงานนั้นจากกิจกรรม แล้วก็ให้มาช่วยกันดูรอบด้าน ทุกมิติ
ดูว่าเขาหรือคน ๆ นี้งอกงามในด้านใด ซึ่งจะไม่เหมือนกับคน ๆ นั้น แบบนี้จะตรงกับแต่ละคน ทั้งหลากหลายและเป็นนักเรียนรู้ เราสร้างนักเรียนรู้
แต่วิธีนี้จะไปไม่ได้เลย ถ้าระบบใหญ่ยังเป็น ระบบที่ไล่ตะบี้ตะบันสอบ โอเนตยังตะบันสอบอยู่ แล้วเอ็นทรานซ์ก็ไปติดกันเหมือนคอขวด
แล้ววิธีการสอบก็ยังเป็นระบบตัดคนส่วนใหญ่ออกไป อย่างไร้ค่า เพราะคนเหล่านั้นสอบไม่ได้ แล้วคนพวกนั้นกลับไปทำอะไร ก็ไปทำร้ายตัวเองและกลับมาทำร้ายคนส่วนใหญ่
ผมสนใจเขย่าระบบประเมินผล เพราะถ้าเราประเมินผลอะไร ทุกคนก็จะสนใจทำสิ่งนั้น
เมื่อเขาประเมินผลครูเรื่องงานวิชาการ เพื่อเลื่อนระดับเขาประเมินจากงานงานวิจัย ครูก็สนใจแต่งานวิจัย ไม่ได้สนหรอกการสอน
ดังนั้นการประเมินผลครู ต้องประเมินความสามารถในการสอน ประเมินจิตวิญญาณครู ครูจึงต้องกล้าในการสอน
◌◌◌◌◌◌
เรามีครู 4 แสนคน แต่เรามีระบบการพัฒนาครูที่เป็นระบบแค่ training ซึ่งไม่ใช่ learning ครูในโรงเรียนต่างๆ นั้นเฝ้ารอเมื่อไหร่เขตจะสั่งมา กระทรวงจะสั่งมาให้ฉันไปอบรม และวิธีการอบรมคือการยัดให้กัน สุดท้ายก็ไม่ได้อะไร เพราะมันไม่ใช่กระบวนการเรียนรู้ในองค์กร
เราทำที่นี่ให้เป็นตัวอย่าง ทำให้เห็นว่า เรามีการพัฒนาครู ทำให้ครูเป็นนักเรียนรู้ ไม่ใช่ใช่แค่ training เราทำในสิ่งที่ไม่รู้เลย แต่ลงมือปฏิบัติ เอาความรู้ข้างนอกมาผสมผสาน มาอ้างอิง ในขณะเดียวกันเราลงมือปฏิบัติเพื่อหาสิ่งที่ดีกว่าเสมอ นี่คือกระบวนการ ของเรา
ตอนนี้โรงเรียนในระบบกำลังอ่อนแอมากเพราะว่าไม่มีระบบการเรียนรู้ภายใน ทุกคนเฝ้ารอแต่ว่าจะไปข้างนอก แล้วเอามาใช้หรือเปล่า ก็ไม่รู้ ส่วนในเรื่องที่อบรมมา คนอบรมก็นั่งเปิดหนังสือสอนด้วย
◌◌◌◌◌◌
ส่วนข้อสงสัยว่าเด็ก ๆ ที่ผ่านโรงเรียนนอกกะลาซึ่งเน้นเล่นและทำสมาธิให้สงบ เพื่อให้มีความสุขจะอ่อนด้อยประสิทธิภาพในการแข่งขันกับคนอื่นในโลกภายนอก หรือไม่
“ความวิตกกังวลเรื่องคุณภาพเด็กในเชิงแข่งขันกับโลกภายนอก ผมคิดว่าไม่เลย เพราะเป้าหมายเราไม่ได้สร้างเด็กให้เกิดความโดดเด่นหรือแตกต่างแบบนั้น เพราะเมื่อไหร่ที่เราพูดถึงเป้าหมาย ก็เข้าใจก่อนว่าเป้าหมายเราคืออะไร ? ธงของเราคืออะไร ?
เด็กๆ ของเราถ้าออกไปอยู่ในสังคมธรรมดา เขาต้องสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ประกอบสัมมาชีพได้ จัดการตัวเองให้มีความสุขได้ พอใจพอดีกับตัวเองได้ มีความพอสุขพอดีได้ง่าย นี่ถ้าเทียบในมุมธรรมดานะครับ
แต่ถ้าเทียบในเชิงอุดมคติเขาจะต้องเป็นคนที่มีความสุขคัมภีรภาพ มีสติรับรู้ รู้ตัวและรู้ว่าชีวิตมันสั้นแค่ไหน ควรทำอะไรที่มีคุณค่าแค่ไหน อันนี้เป็นเชิงอุดมคติ นะครับ ซึ่งมันมองเห็นยาก
และสิ่งที่ทุกคนทำ สิ่งที่ทุกคนมองเห็นเหมือนกัน เกี่ยวกับการศึกษา คือ ทำหน้าที่ให้ดีเหมือนชาวสวนดูแลผลไม้ คือ ตัดหญ้า พรวนดิน ใส่ปุ๋ย กำจัดศัตรูพืช ทำให้ดีเต็มหน้าที่ของชาวสวน แต่ผลไม้นั้นจะออกลูกออกผลหรือไม่ ต้องรอปัจจัยธรรมชาติของมันด้วย
◌◌◌◌◌◌
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น