24 ต.ค. 2557

ยิ้มแย้มแจ่มใส | นักเรียน


_ช่วงเช้าตรู่ที่สดใส อากาศกับแสงแดดอ่อนๆ ส่งแสงระยิบระยับเต็มไปทั่วบริเวณ แสงแผ่ซานผ่านช่องเล็กช่องน้อยของพื้นที่ว่างระหว่างต้นไม้ใหญ่กับต้นไม้เล็กสลับกันไปมา แดดอ่อนๆ สาดแสงมาตรงหน้าของผมในช่วงเวลาที่เด็กๆ กำลังจะเดินทางมาถึงเรียน สายลมเย็นฉ่ำพัดรวงข้าวสีทองโอนเอนอ่อนไหว ผมเฝ้ามองจากขอบหน้าต่างทางด้านทิศตะวันตกของบ้านเรือนไทยมัธยมศึกษาปีที่ 1 มองลงไปคล้ายกับระรอกคลื่นที่ม้วนตัวเข้าหาฝั่ง มันจะพัดใบ และรวงข้าวโบกสะบัดระริกระรี้อยู่ตลอดเวลา ดั่งหนุ่มสาวได้ดื่มด่ำแห่งไอรัก เสียงแรกของเด็กๆ ที่มาถึงห้องเรียน “สวัสดีค่ะคุณครูป้อม” นี้เป็นประโยคแรกของทุกวันที่ผมได้ยินมาโดยตลอดจวบจนจะครบ 1 ภาคเรียนแล้วเห็นจะได้
_นี้ก็เป็นอีกวันแล้วชินะ ที่ผมเห็นเด็กๆ มาถึงโรงเรียนฯ ตั้งแต่ยามเช้าตรู่ ผมเฝ้าสังเกตเห็นอากัปกริยาของเด็กๆ แต่ละคนต่างสดใสซื่อๆ ผมมองลึกลงในแววตาที่เปล่งประกายแห่งการเรียนรู้ของพวกเด็กๆ มันทำให้ผมนึกวัยนั้นที่ผมก็เคยข้ามผ่านห้วงเวลาอันแสนมีความสุข สนุกและเรียบง่ายอย่างเช่นพวกเขาเหล่านั้น การเรียนรู้ในวัยเด็กเช่นนี้ พวกเขาไม่ต้องคิดถึงภาระหน้าที่ต่างๆ อย่างที่ผู้ใหญ่อย่างพวกเราต้องแบกอุ้มภาระเอาไว้ ไม่ต้องมาห่วงกับหน้าที่การงานต่างๆ ที่จะเข้ามาท้าทายทดสอบจิตใจว่าเรายังเข้มแข็งพอที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาต่างที่โหมกระหน่ำเข้ามาหาเราทุกวี่วันอยู่หรือเปล่า งานอันแสนยากและลำบากที่สุดสำหรับพวกเขาที่เห็นจะมีก็คือการเรียนรู้ตามชั่วโมงที่สอนของครูแต่ละคนที่กำหนดเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเปิดเรียน ป่านดังว่าตารางเรียนนี้คือการกำหนดสิ่งต่างๆ ที่ทุกคนต้องก้าวข้ามผ่านมันให้ได้ในทุกๆ วัน พวกเขาไม่ต้องมาเตรียมการสอน ไม่ต้องวางแผนเขียนแผนการสอนล่วงหน้า ไม่ต้องคิดเตรียมสื่อหรือกิจกรรมการสอน หรืออะไรต่างๆ สัพเพเหระที่ทำอย่างที่คุณครูทำรอพวกเขาเอาไว้ในแต่ละวัน

:: : :::

สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีก็คือ ความสดใส ความใคร่เรียนรู้ในสิ่งต่างๆ สิ่งใหม่ที่เข้ามาท้าทายพวกเขา เด็กหลายคนกระหายที่จะอยากเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวของพวกเขา ความสดใหม่ของเนื้อหาการสอนในแต่ละเรื่องที่ครูเตรียมที่จะมาสอนศิษย์ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายครูเช่นเดียวกัน ครูผู้ที่คิดค้นนวัตกรรมการสอนที่แปลกๆ ใหม่มาถ่ายทอดกับเด็กๆ ให้เหมาะสมแก่การเรียนรู้สำหรับพวกเขาในชั่วโมงนั้น เด็กๆ จะกระหายที่จะค้นหาคำตอบ และอยากจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ครูเตรียมมาสอนเป็นอย่างดี

_ที่ผมกล่าวเอาไว้ในช่วงต้นเป็นการเรียนรู้ในเรื่องที่ใกล้ตัวของพวกเขา เด็กๆ เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวสินเหล็ก 4 เมล็ด ให้ได้ 2000 เมล็ด ปลูกในพื้นที่จำกัด การทำงานวิจัยปลูกข้าวมีความสนุกและท้าทายทุกๆ สัปดาห์เป็นPBL ระยะยาวเรียนรู้ 20 สัปดาห์
เคยมีผู้ปกครองท่านหนึ่งเข้ามาถามผมว่า “ใครเป็นคนเสนอความคิดในการปลูกเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้ผลผลิตในปริมาณที่มากและมีผลต่างจากต้นทุนมากที่สุดนี้ค่ะคุณครู?” หลังจากสินเสียงคำถามลงแววตาของผู้ปกครองท่านนั้นจดๆ จองๆ มองผมเหมือนจะรอให้คำตอบหลุดออกมาทันทีทันใดในเวลานั้น ท่านยังพูดเสริมต่ออีกว่า “คุณแม่เคยเห็นทฤษฏีหนึ่งในอเมริกา เป็นงานวิจัยคล้ายๆ กับโจทย์นี้ แต่มันเป็นการเรียนรู้ในระดับการเรียนปริญญาเอกเลยเชียวนะ คุณแม่ชื่นชมคนคิดโจทย์นี้ให้เด็กๆ จังเลยค่ะ” พอสิ้นเสียงคำถามและการสนทนาในครั้งเหมือนท่านอยากจะเข้ามาชื่นชม และสนใจในงานวิจัยชิ้นนี้ของเด็กๆ เป็นอย่างมาก ผมตอบคำถามไป “ครูใหญ่..ฝากโจทย์ให้ครูมัธยมมาใช้สอนPBL ให้เด็ก ม.1 ภาคเรียนนี้ครับ” เหมือนคำตอบนี้จะโดนใจสำหรับผู้ปกครองท่านนี้ ผมสังเกตเห็นรอยยิ้มที่เปี่ยมปีติ แววตาแห่งความรื่นรมย์ยินดีในการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มนี้


รวงข้าวสีทองแลเหลืองอร่ามเต็มท่อที่ใช้ปลูกข้าวของเด็กๆ ยืนชูคอรอรวงคอยเคียวโอนเอนอ่อนไหวไปมา เมื่อต้องสายลมในทุกๆ วัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น