4 พ.ย. 2554

ทุกๆ วิกฤติการณ์นั้น ย่อมจะมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ

  โกไลแอทเป็นยักษ์ที่เข้ามาทำร้ายและคุกคามเด็กๆ ในหมู่บ้าน คนทั้งหมูบ้านล้วนกลัวยักษ์ตนนี้ทั้งสิ้น นอกจากเด็กวัยรุ่นอายุ 17 ปี ชื่อว่า 'เดวิด' ซึ่งเป็นเด็กเลี้ยงแกะที่แวะมาเยี่ยมญาติและเมื่อเดวิดรู้เรื่องยักษ์ เขาก็บอกกับชาวบ้านว่า"ทำไมพวกเราไม่ลุกขึ้นมาสู้กับยักษ์ตนี้ล่ะ"
ชาวบ้านตอบด้วยความหวาดกลัวว่า"ใครจะไปสู้ได้ ตัวมันใหญ๋จะตาย มันใหญ่เกินกว่าที่จะสู้กับมันได้"
เมื่อฟังดังนั้น เดวิดก็บอกกับทุกคนว่า "มันตัวใหญ่สิดี! เพราะมันใหญ่เราจึงไม่พลาดยังไงล่ะ"
 ว่าแล้วเดวิดก็ไปสู้กับยักษ์ โดยใช้หนังสติ๊กง้างและยิงเขาไปที่ตายักษ์ ทำให้เจ้ายักษ์ตนนี้ล้มลงและเดวิดก็สามารถฆ่ายักษ์ได้.

  ผมเคยเล่าเรื่องนี้ให้เด็กๆ นักเรียน ชั้น ป.2 และชั้น ป.3 ฟังก่อนสอนวิชาคณิตศาสตร์ เด็กๆ หลายคนบอกว่าประทับเรื่องนี้มาก และตัวละครอย่างเจ้าเด็กหนุ่มเดวิดผู้นี้ เขาก็เป็นเพียงเด็กเลี้ยงแกะธรรมดาคนหนึ่ง แต่เขากลับมีความคิดเชื่อ ความคิดและเห็นต่างมุมมองที่แตกต่างจากหลายๆ คนที่เห็นยักษ์ตนนี้
หลายคนเห็นยักษ์ตัวใหญ่โตน่ากลัว เราสู้ยักษ์ตนนี้ไม่ได้หรอก! อย่างเพียงริที่จะคิดสู้กับมันเสียเลย เสียเวลาเปล่าๆ แต่เด็กหนุ่มเดวิดบอกว่า ตัวใหญ่สิดี เราจะได้เปรียบเป้ามันใหญ่ชัดเจนดี เราจะไม่พลาด
  ฮีโร่(Hero) : หลายคนปรารถนาจะเป็นฮีโร่ แต่คนส่วนใหญ่ได้เพียงแต่จะคิดและเพียงจินตนาการไปเองทุกครั้ง มากกว่าที่จะกล้าลงมือทำเลย โดยไม่ต้องรีรอแต่ 'โอกาส'
  มีเรื่องเกี่ยวกับโอกาสที่ผมเคยเขียนลงในบันทึกเก็บเรื่องราวเอาไว้ว่า ที่เมืองหนึ่งของประเทศกรีก เคยมีรูปปั้นแกะสลักตั้งอยู่ใจกลางเมือง ปัจจุบันรูปปั้นนี้ไม่เหลือแม้แต่ซาก แต่แผ่นจารึกที่บรรยายเกี่ยวกับรูปปั้นยังคงเหลืออยู่ คำบรรยายเขียนไว้ในรูปแบบการสนทนาระหว่างรูปปั้นกับคนที่เดินผ่านไปมา..
"รูปปั้นเอ๋ย ท่านชื่ออะไร"
"ฉันชื่อ..โอกาส"

"ใครเป็นคนสร้างท่านขึ้นมา"
"ช่างแกะสลักชื่อ ลีซีปัส"

"เหตุใดท่านจึงยืนเขย่งเท้า?"
"เพื่อบ่งบอกว่าฉันอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วยาม"

"แล้วทำไมที่เท้าของท่านจึงมีปีก"
"เพื่อแสดงให้เห็นว่าฉันจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว"

"แต่ทำไมผมด้านหน้าของท่านจึงยาวอย่างนี้"
"ก็เพื่อให้คนที่พบฉัน จะได้จับฉวยไว้ได้ง่าย"

"แล้วทำไมหัวด้านหลังของท่านจึงล้าน ไม่มีผมแม้แต่เส้นเดียว"
"ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า เมื่อฉันผ่านไปแล้ว ก็ยากที่จะจับฉันได้ใหม่"

จริงด้วยทางด้านหน้าของ "โอกาส" มีผมยาวแต่ด้านหลังล้านเกลี้ยง เพราะเมื่อปล่อยให้ "โอกาส" ผ่านไปแล้วก็ยากที่จะจับยึดมันกลับมาได้อีก..

"โอกาส" จึงเร้าเตือนเราทุกคนว่า.. "อย่ามาต่อว่าฉัน ว่าฉันไม่เคยมาเยี่ยมกราย เพราะบ่อยครั้งเหลือเกินที่ฉันมาเคาะประตู แต่เธอกลับไม่อยู่บ้านทุกวัน ฉันยืนรออยู่ที่หน้าบ้านเธอ เรียกให้เธอตื่น ให้ขยันขันแข็ง ให้รีบตัดสินใจ ให้ลงมือทำ ให้ออกแรง ให้สู้ เพื่อจะได้มาซึ่งชัยชนะและความสำเร็จ จงอย่าปล่อยให้ฉันผ่านไป เธอจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจในภายหลังที่ฉัน "โอกาส" ผ่านมา แต่เธอไม่รู้จักจับฉวย"

โอกาสถ้าหากเราจับฉวยได้ทัน ก็สามารถเปลี่ยนเป็นความสำเร็จได้ แต่หากเราไม่จับฉวยโอกาส ไม่สนใจ ก็คือเหตุการณ์ที่ผ่านไป ส่วนวิกฤติถ้าเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในเวลาที่เหมาะสม ก็สามารถเปลี่ยนเป็นความสำเร็จได้ ถ้าหากเราเพิกเฉยในวิกฤติ ไม่คิดเปลี่ยนแปลงภายในเวลาที่เหมาะสมก็คือ 'หายนะ'
ดังเช่นตัวอย่างเรื่องเล่านี้ครับ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ประเทศอินเดียชาวสวนส่วนใหญ่มักจะมีปัญหากับลิงเข้ามาขโมยผลไม้กินเป็นประจำ พวกชาวบ้านก็อยากจะหาวิธีเพื่อจะจับลิง และพวกชาวบ้านก็เลยทำได้โดยการใช้กล่องไม้ที่มีฝาด้านหนึ่งเจาะรูเล็กๆ ขนาดพอที่มือของลิงจะสอดเขาไปได้ ในกล่องนี้เขาก็ใส่ถั่วซึ่งเป็นของโปรดของลิงเอาไว้เป็นเหยื่อล่อ เมื่อลิงเห็นถั่วในกล่อง มันก็เอามือล้วงลงไป พอจะดึงมือออกก็ติดฝากล่อง เพราะกำมือของลิงใหญ่กว่าฝากล่องที่เจาะไว้ ลิงก็พยายามดึกเท่าไรก็ไม่สำเร็จ
ชาวบ้านจึงสามารถจับลิงได้ เพราะมันไม่สามารถปีนต้นไม้หนีได้ด้วยมือเพียงข้างเดียวที่อยู่นอกกล่อง ลิงไม่ตระหนักเลยว่าถ้าหากเพียงมันคลายมือออก มันก็จะเอาตัวรอดได้ แต่เพราะมันกำยึดถั่วเอาไว้แน่นไม่ย่อมปล่อย มันจึงต้องเอาชีวิตเข้าแลกด้วยชีวิตของมันเอง!
  ลิงตัวนี้ได้รับโอกาส ได้กินถั่วที่มันชอบ แต่ในโอกาสนั้นลิงทำตัวมันเองให้กลายเป็นวิกฤติขึ้นมา นำไปสู่ความหายนะของชีวิตของเสียเองจนได้
โอกาสเป็นของทุกๆ สรรพสัตว์และวิกฤติก็เป็นของทุกๆ สรรพสัตว์ที่จะต้องพบเจอเช่นเดียวกันเสมอ ไม่ช้าหรือเร็วเราก็จะต้องพบเจอ
แต่จะเห็นโอกาสหรือวิกฤตินั้นมันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละสรรพสัตว์ ขอเพียงใช้ใจมองให้เห็นความเป็นจริง ใช้สมองครุ่นคิดในเชิงบวกกับทุกๆ สรรพสิ่งที่พบเห็น ทุกๆ อย่างล้วนเข้ามา แล้วมันก็จะผ่านไป

 เราไม่รู้หรอกว่าหากเราคลายสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงได้ ปัญหาที่ดูสลับซับซ้อนทั้งหลายก็อาจจะคลี่คลายได้ แต่หากเรามักจะไม่ยอม ยอมไม่ได้ ยอมแล้วกลัวเสียศักดิ์ศรีจึงยึดไว้ถือไว้ จนหน้ามืดตามัว
เมื่อเรายึดไว้ขนาดนั้นทางแก้ก็ไม่มี เพราะเมื่อเวลาที่มีตัวตน(อัตตา)เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทีไรปัญญาก็มักจะดับ การแก้ปัญหาจึงเกิดขึ้นไม่ได้.
 
อีกกรณีที่สามารถนำมาปรับประยุกต์เป็นบทเรียนอันมีคุณค่าของชีวิตเราได้ การเห็นโอกาสทองในวิกฤติ ดังนิทานิทานอีสปเรื่องนี้ครับ
 มีชาวนาคนหนึ่งเลี้ยงลาไว้ตัวหนึ่งซึ่งแก่มากแล้ว ด้วยความโง่ของมันดันเดินซุ่มซ่ามไปตกบ่แห่งหนึ่ง มันร้องครวญคราง อยู่เป็นเวลานาน ชาวนาเองก็พยายามใคร่ครวญหาวิธีที่จะช่วยมันขึ้นมา ในที่สุดชาวนาหวนคิดขึ้นมาได้ว่า เจ้าลาก็แก่เกินไปแล้ว อีกอย่างบ่อนี้ก็ต้องกลบไม่คุ้มที่จะช่วยเจ้าลา ชาวนาจึงไปขอแรงชาวบ้านเพื่อมาช่วยกลบบ่อ ทุกคนใช้พลั่วตักดินสาดลงไปในบ่อ
  ครั้งแรกเมื่อดินถูกหลังลา มันตกใจและรู้ชะตากรรมของตนเองทันที มันร้องโหยหวน สักพักหนึ่ง
ทุกคนก็แปลกใจที่เจ้าลาเงียบไป หลังจากชาวนาตักดินใส่บ่อได้สักสองสามพลั่ว เมื่อเหลือบมองลงไปในบ่อ ก็พบกับความประหลาดใจที่ลามันจะสะบัดดินออกจาก หลังทุกครั้งที่มีผู้สาดดินลงไป แล้วก้าวขึ้นไป
เหยียบบนดินเหล่านั้น ยิ่งทุกคนพยายามเร่งระดมสาดดินลงไปมากเท่าไร มันก็ก้าวขึ้นมาเร็วได้มากยิ่งขึ้น
ในไม่ช้าทุกคนต่างประหลาดใจในที่สุด เจ้าลาสามารถหลุดพ้นจากปากบ่อดังกล่าวได้

ในภาษาจีนคำว่า "เหวย-จี" แปลว่า "วิกฤติการณ์"
ซึ่งมาจากการผสมของคำ 2 คำ ระหว่าง "เหวย" กับ "จี"
ซึ่ง "เหวย" แปลว่า วิกฤติการณ์ ส่วน "จี" เปลว่า โอกาส

"เหวย-จี" จึงสะท้อนปรัชญาชาวจีน ที่เชื่อว่าทุกๆ วิกฤติการณ์นั้นมีโอกาสซ่อนอยู่
ดังนั้น..ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตคือ ผู้ที่พร้อมรับวิกฤติการณ์...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น