3 เม.ย. 2555

โรงเรียนนอกกะลา - วิเชียร ไชยบัง

ปฏิวัติการศึกษา ณ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
คิดเยี่ยงครู ดูอย่างครูใหญ่ : พลังความรั้น ผลักดันโลก

โรงเรียนที่ไม่มีการสอบ
โรงเรียนที่ไม่มีเสียงออดเสียงระฆัง
โรงเรียนที่ไม่มีดาวให้ผู้เรียน
โรงเรียนที่ไม่ต้องใช้แบบเรียน
โรงเรียนที่ไม่มีครูอบรมหน้าเสาธง
โรงเรียนที่ไม่ได้จัดลำดับความสามารถผู้เรียน

โรงเรียนที่ครูสอนเสียงเบาที่สุด
โรงเรียนที่พ่อแม่ต้องมาเรียนรู้ร่วมกับลูก
โรงเรียนที่ทุกคนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข

    ผมมาเป็นครูวันแรกที่โรงเรียนแห่งนี้ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ 'โรงเรียนนอกกะลา' ตั้งอยู่ที่ อ.ลำปลายมาศ  จ.บุรีรัมย์
การมาเป็นครูที่นี้ ครูทุกคนต้องได้อ่านหนังสือเล่มนี้ให้เข้าใจอย่างลึก แล้วให้ถอดความเข้าใจในแต่ละภาคของหนังสือออกมา เพื่อเก็บงานเริ่มแรกของครูที่ได้เข้ามาอยู่ที่นี้  หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วย 5 ภาค

โรงเรียนที่ไม่มีการสอบ
การสอบเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ อย่างของเครื่องมือและวัดค่าได้เพียงหยาบๆ หัวใจอันแท้จริงของการผลและประเมินผลนั้นเพื่อมุ่งพัฒนาผู้เรียนแต่ละคน การวัดผลตามสภาพจริงอย่างต่อเนื่องด้วยเครื่องมือที่หลากหลายจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า


โรงเรียนที่ไม่มีเสียงออดเสียงระฆัง
การปลูกฝังวินัยและคุณธรรมเชิงลึกนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะคำสอนวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นในแต่ละวันอย่างสม่ำเสมอคงเส้นคงวาต่างหากที่กล่อมเกลา กรอบความคิดที่ใช้เวลาเป็นมาตรวัดคุณค่านั้นเกิดขึ้นพร้อมกับโลกยุคอุตสาหกรรมซึ่งผ่านไปนานแล้ว


โรงเรียนที่ไม่มีดาวให้ผู้เรียน
สิ่งที่ผู้เรียนทุกคนทำออกมาล้วนแต่มีค่า ครูไม่ควรตีตราด้วยดาวหรือคะแนน ครูมีหน้าที่รู้ให้ได้ว่าเด็กแต่ละคนควรพัฒนาตรงไหน และหาวิธีที่จะพัฒนาเด็กให้เต็มศักยภาพของแต่ละคน


โรงเรียนที่ไม่ต้องใช้แบบเรียน
แบบเรียนเป็นเพียงที่เก็บความรู้ ผ่านไปไม่กี่วันมันเป็นเพียงความรู้เก่า ครูควรจะสนใจพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตมากกว่า ได้แก่ ทักษะกระบวนการแสวงหาความรู้และทักษะการคิด ในที่สุดผู้เรียนจะเป็นผู้แสวงหาความรู้ที่จำเป็นและมีความหมายต่อเขาด้วยตัวเอง

โรงเรียนที่ไม่มีครูอบรมหน้าเสาธง
ช่วงเวลากิจกรรมหน้าเสาธงเป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อที่สุดสำหรับเด็ก ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีสำหรับการเรียนรู้ ควรจัดให้สั้นกระซับและได้ความรู้สึก

โรงเรียนที่ไม่ได้จัดลำดับความสามารถผู้เรียน
เราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความสามารถและมีดีที่แตกต่างกัน เหมือนมะละกอ กล้วย ส้ม ลิ้นจี่ ที่จัดอับดับไม่ได้

โรงเรียนที่ครูสอนเสียงเบาที่สุด
น้ำเสียงที่เบาสื่อถึงความเมตตาอารีและเข้าถึงจิตใจได้ลึกกว่า ผู้เรียนและครูจะให้ความสำคัญกับการฟังแบบลึก

โรงเรียนที่พ่อแม่ต้องมาเรียนรู้ร่วมกับลูก
ลำพังโรงเรียนฝ่ายเดียวไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนได้เต็มศักยภาพได้ ความเข้าใจตรงกันและความร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนกับพ่อแม่จึงต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง

โรงเรียนที่ทุกคนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข
ความสุขจะนำไปสู่ ฉันทะ คือรักที่จะเรียนรู้ เมื่อรักที่จะเรียนรู้ก็จะเรียนรู้ได้อย่างดี


ภาคหนึ่ง
กะลาครอบ


เรามีโรงเรียนมากมายในโลก
เรามีห้องเรียนมากมายในโลก
เรามีเด็กๆ มากมายในห้องเรียน
เราอยากให้เกิดสิ่งใดกับผู้เรียน?
อะไร คือ เป้าหมายสูงสุดที่อยากให้เกิดกับผู้เรียน ?
(คำตอบเหล่านี้ไม่ได้เรียงตามน้ำหนัก หรือ ไม่แน่ใจนักว่าจะใช่จริงๆ)

ความนอบน้อม
ความรู้พื้นฐาน
ผลการเรียนสูง เกรดสี่ทุกวิชา
ความมีวินัย
ความสามารถในการจัดการ
ความสามารถในการพัฒนาตนเอง
การตอบแทนสังคม
พ่อแม่ผู้ปกครองพึงพอใจ
สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้
มีอาชีพที่มั่นคง
อุปนิสัยดี
ปัญญา
มีความสุข
ร่ำรวย มีบ้าน มีรถ มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ
ฯลฯ

ถ้าทรัพย์สิน เงินทอง หรือ ความร่ำรวย เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จทางการศึกษา และ ถ้ากฎของพาเรโต้ถูกต้อง
นั่นหมายถึงการศึกษาทั้งมวลที่มนุษย์เพียรสร้างมา ล้มเหลว เพราะจะมีเพียงคน 20 % ในโลกเท่านั่นที่ครองทรัพย์สินของโลกถึง 80%  คนที่เหลือ 80 % ของพลกรโลก ต่างก็แบ่งปันหรือไม่ก็แย่งชิงกัน จากเศษทรัพย์สินของโลกที่เหลือเพียง 20 %
...ปี ค.ศ. 1960 วิลเฟรโด้ พาเรโต้ (Vilfredo Pareto) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลี ได้สร้างสูตรอธิบายการกระจายความมั่งคั่งโดยพบว่า ประชากรจำนวน 20 % ครอบครองความร่ำรวยในปริมาณ 80 % ของความร่ำรวยทั้งหมด..
หรือเราควรจะเอา ความรู้ของผู้เรียน เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการศึกษา

โปรดพิจารณาเหตุการณ์ต่อไปนี้
เด็กคนหนึ่งเรียนเก่งที่สุดในชั้น เขาตั้งใจเรียนตลอดชั่วโมงและเข้าใจเนื้อหาที่ครูสอนอย่างดี แต่เมื่อออกนอกห้อง เขาขอเล่นกระโดดยางกับเพื่อนแต่เพื่อนไม่ยอมให้เล่นด้วย
สองเหตุการณ์นี้อะไรสอนเด็กคนนี้ได้มากกว่ากัน เหตุการณ์ใดส่งผลต่อชีวิตของเด็กคนนี้มากกว่ากัน นอกห้องเรียนกลับมีหลักสูตรที่ซ่อนอยู่มากมาย

มองโลกจากมุมหนึ่งของจักรวาล

นี่คือโลกที่ลอยอยู่ท่ามกลางความมืดมิดของอวกาศ
เป็นภาพที่เอ็ดการ์ มิตเชลล์ นักบินอวกาศชาวสหรัฐ มองเห็นโลกจากดวงจันทร์ มันกระทบใจเขามาก เขาได้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวของโลก เห็นตัวเองเป็นสิ่งเล็กน้อยไร้ความหมายต่อจักรวาล จิตเปลี่ยนจากจิตเล็กเป็นจิตใหญ่ เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง เกิดความรักต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ เมื่อเขากลับมายังโลกสิ่งที่เขามุ่งหมายคือการค้นคว้าและเผยแพร่เรื่องจิตสำนึกใหม่ อันเป็นจิตใหญ่ ก่อให้เกิดความอิสระ ความสุข และความรักอันไพศาล จนเข้าถึงความจริง ความงาม เขาได้ตั้งสถาบันชื่อ The Institute of Noetic Sciences (IONS) เพื่อค้นคว้าและเผยแพร่เรื่องดังกล่าว

ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดกับเด็กคนที่เพื่อนไม่ยอมให้เล่นด้วยกับการมองเห็นโลกจากดวงจันทร์ของเอ็ดการ์ มิตเชลล์ ชี้ให้เห็นว่าหลายอย่างที่ไม่ได้มีสอนในห้องเรียนแต่มีความหมายมาก เพราะมันกระตุ้นความรู้สึก ความรู้สึกเป็นปรากฏการณ์ทางจิตที่มีอิทธิพล อย่างลึกซึ้งต่อมนุษย์มากกว่าสติปัญญา
กลับมามอง.....บทเรียนของการศึกษาในอดีต
เรามีการศึกษาที่ทุกคนไม่มีสิทธิเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน
ผู้เรียนเกือบทั้งหมดทำอาชีพตามสาขาที่เรียนมา ผู้คนทำงานเดียวและยึดมันไว้อย่างมั่นคง
การเรียนการสอนเน้นการจำความรู้
ดำรงอยู่ภายใต้วัฒนธรรมเดียว
ต่างคนต่างทำงานในความรู้ที่ตนเองได้เรียนมา
เรียนเป็นช่วง ๆ ตามระดับชั้น
การเรียนการสอนเป็นกลุ่มเดียว ในห้องสี่เหลี่ยม ครูเป็นผู้ให้ความรู้ ครูกำหนดสิ่งที่จะสอน และห้องเรียนเงียบ ผู้เรียนมีส่วนร่วมน้อย
สอบวัดความรู้
เน้นการแข่งขัน ผู้แพ้ถูกคัดออก มีคนจำนวนน้อยได้เรียนระดับสูง
ฯลฯ

การศึกษายังติดอยู่ที่ การอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นและความรู้
ทั้งที่ ... ทักษะกระบวนการแสวงหาความรู้ และ ทักษะการคิด คือ เครื่องมือที่จำเป็นที่สุดในอนาคต เรายังตามความคิดของเมื่อวาน มากกว่าความต้องการในอนาคต ความคิดใหม่ และ นวัตกรรมใหม่จึงเกิดขึ้นน้อย
ห้องเรียนมีหลายกลุ่มผู้เรียน โดยมีครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก นักเรียนเป็นผู้เลือกสิ่งที่อยากเรียนและเน้นการจัดการความรู้ร่วมกัน
แต่ค่านิยมทางการศึกษาวันนี้ ยังมุ่งไปที่
►ความรู้
► ทักษะการคิด
►ทักษะกระบวนการแสวงหาความรู้

แม้แต่ สโลแกนก็ให้ความสำคัญกับความรู้
►เก่ง ► ดี ►มีความสุข
เพราะ เก่ง วัดง่าย ได้ค่าออกมาเป็นตัวเลข สามารถปรับแต่ให้สวยหรูได้ดังใจ


กล้าที่จะเปลี่ยน ลำดับความสำคัญใหม่ไหม?
ทักษะกระบวนการแสวงหาความรู้
ทักษะการคิด
►ความรู้
หรือ อย่างนี้
เรียนรู้อย่างมีความสุข ►ดี ►เก่ง

ตอนนี้เรามี การศึกษาเท่านั้นที่เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการพัฒนามนุษย์
บทเรียนในอดีตชี้ให้เราเห็นว่าประเทศที่ให้ความสำคัญกับการให้การศึกษาแก่ประชากร ล้วนแต่ประสบผลสำเร็จในปัจจุบัน
      ประเทศที่มั่งคั่งไม่จำเป็นต้องมีทรัพยากรล้ำค่ามากมาย หรือมีดินแดนขนาดใหญ่ หรือมีประชากรหลายล้านคน แต่ที่สำคัญต้องมีระบบการศึกษาที่ดี มีประชาชนที่ฉลาด เป็นนักประกอบการ และ มีความเรียบร้อยภายในประเทศ
      ไต้หวันเมื่อ 50 ปีที่แล้วมีความยากจนเทียบเท่าเม็กซิโก โดยขณะนั้นเม็กซิโกสามารถสร้างผลิตได้ถึงสองเท่าของไต้หวัน ต่อมา ค.ศ.1974 ไต้หวันหันมาให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ ทำให้อุตสาหกรรมและการส่งออกขยายตัว และสามารถผลิตได้เป็นสองเท่าของเม็กซิโก และก่อนปี ค.ศ.2000 ไต้หวันกลายเป็นผู้นำในด้านการผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล(PC)และชิปของโลก
     รัสเซีย ไนจีเรีย อาร์เจนตินา เวเนซุเอลา หรือบราซิล มีทรัพยากรล้ำค่ามากมาย กลับมุ่งแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นโดยถือว่าประชาชนเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้น ผลสุดท้ายประเทศยากจนลง ประชาชนมีฐานะยากจนกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในทางตรงกันข้าม ไต้หวัน ลักเซมเบิร์ก สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก กลับมีความร่ำรวยขึ้นแม้จะเป็นประเทศเล็ก ทั้งนี้เพราะประชาชนมีความฉลาด (Smart people) และมีความเรียบร้อยภายใน

    ไม่มีใครรู้ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์ชาติ
แต่ที่แน่นอนคือเทคโนโลยีพัฒนาตัวเองสู่เทคโนโลยีนาโนคือมีขนาดจิ๋วแต่มีประสิทธิภาพสูงสุด วิทยาการขยายวงกว้างและลึกขึ้นถึงระดับโปรตีนศาสตร์ ข้อมูลสารสนเทศทั่วโลกจะถูกผลิตออกมาไม่น้อยกว่าวันละหนึ่งร้อยล้านคำต่อวันซึ่งมากมายมากพอที่จะให้คนหนึ่งคนใช้เวลาอ่านถึงยี่สิบห้าปี

ความหวัง ทั้งหมดของเรา
อยู่ที่ การศึกษา เท่านั้น

ภาคสอง
ความหวังและการงอกใหม่นอกกะลา

มนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นความเพ้อฝันไปหรือเปล่า?

ปรัชญาสูงสุดของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
“การศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์”

การตีความในความหมายของประโยคนี้ย่อมแตกต่างกันของแต่ ละคน ตามประสบการณ์หรือกรอบความคิดที่แตกต่างกัน แต่ในความหมายสำหรับโรงเรียนลำปลายมาศ พัฒนานั้น หมายถึง การที่บุคคลบรรลุความฉลาดทั้งสี่ด้านนี้

PQ (Physical Quotient) ความฉลาดทางด้านร่างกาย
IQ (Intellectual Quotient) ความฉลาดทางด้านการคิด
EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดทางด้านอารมณ์
SQ (Spiritual Quotient) ความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณ

จิตศึกษา
จิตศึกษาเป็นวิชาที่มุ่งพัฒนาความฉลาดทางจิตวิญญาณ (Spiritual Quotient) เน้นการเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ เพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างอ่อนน้อม อ่อนโยน เข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ อย่างเป็นองค์รวม เป็นหนึ่งเดียว อย่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การตระหนักรู้คุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยปราศจากอคติ ไม่แบ่งแยก ไม่ตัดสินถูก-ผิด ขาง-ดำ มีความรักความเมตตาอันยิ่งใหญ่ มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม และการเข้าถึงแก่นแท้ของชีวิต และ ความหมายของการมีชีวิตอยู่

โรงเรียนกับการเรียนรู้อย่างมีความสุข
ต้นธารของการเรียนรู้ เริ่มต้นจากความสงสัย ความจำเป็น หรือ บางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายกับเรา ความสนใจ ความรู้สึกอยากเรียนรู้ ภาวะที่มีความสุข ผ่อนคลาย ปราศจากแรงกดดันด้านลบ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะเพิ่มพูนศักยภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างดี

โรงเรียนที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข คือโจทย์ข้อใหญ่
เราควรจะเริ่มต้นกันตรงไหนดี?

จิตวิทยาสำหรับมนุษย์
      พีอาร์ ซาการ์ นักจิตวิทยาและนักการศึกษาผู้ให้กำเนิดจิตวิทยาสำหรับการพัฒนามนุษย์ เขาเชื่อว่ามนุษย์มีความสำคัญ มีคุณค่าเหนือกว่าสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น พื้นฐานจิตใจ ใฝ่รู้ มีความต้องการภายในที่จะพัฒนาตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การศึกษามีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาศักยภาพแฝงเร้นที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ให้แสดงออกมาให้สูงสุด การที่เรามีปัญหาเกิดความเฉื่อยชา เบื่อหน่าย ไม่อยากเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และทำสิ่งที่ไม่ดีลงไป นั้นเนื่องมาจาก ข้อมูลจากสภาพแวดล้อมและการอบรมสั่งสอนที่ไม่ถูกต้อง และถูกบันทึกไว้ในจิตใต้สำนึก

จิตใต้สำนึก (Subconscious) คือขุมพลังแฝงเร้น เป็นส่วนที่ลี้ลับและแสนจะพิสดารในตัวเรา เป็นที่เก็บพลังพิเศษ เช่น พลังความคิดสร้างสรรค์ พลังการหยั่งรู้ พลังความทรงจำ แต่ที่ประหลาดเราไม่สามารถใช้มันออกมาตามใจเราได้ มันจะแสดงพลังของมันออกมาในขณะที่เราไม่รูตัว ขณะผ่อนคลายสุด ๆ หรือคับขันสุด ๆ หรือขณะดีใจหรือตกใจสุดขีด ขณะอยู่ในภวังค์ หรือขณะกึ่งหลับกึ่งตื่น จิตใต้สำนึกยังเป็นตัวกำหนดอุปนิสัย บุคลิกภาพ ทัศนคติ ความเชื่อ และค่านิยมของเรา

Food for thought: ผมชอบดูหนัง มากพอๆ กับอ่านหนังสือ แต่กลับไม่ชอบดูทีวี หนังเรื่อง Dr.Jekyll และ Mr.Hyde เป็นเรื่องราวของหมอที่พยายามทดลองใช้สารเคมีเพื่อให้มนุษย์หลุดพ้นจากด้านมืดหรือสัญชาตญาณดิบ แต่เมื่อทดลองใช้กับตัวเองเขากลับกลายเป็นคนสองบุคลิกภาพ ตอนกลางวันเป็นหมอรักษาคนป่วย ส่วนด้านมืดหรือสัญชาตญาณดิบจะถูกปลดปล่อยออกในตอนกลางคืนโดยที่เขาไม่สามารถควบคุมมันได้

จิตใจของมนุษย์ซับซ้อน เป็นทั้ง Dr.Jekyll และ Mr.Hyde

   นักจิตวิทยาแต่ละกลุ่มประมาณสัดส่วนของจิตใต้สำนึกและจิตรู้สำนึกไว้แตกต่างกัน อาจจะเป็น 99:1 หรือ 97:3 หรือ 91:9
   คงไม่มีคำตอบที่เป็นตัวเลขแน่นอนตายตัวแต่จากภาพภูเขาน้ำแข็งเราคงประมาณด้วยความรู้สึกได้ว่า จิตใต้สำนึกของเรา จะมีอิทธิพลต่อเรามากเพียงใด

การทำงานของจิตใต้สำนึก

คุณค่าความเป็นมนุษย์คือทางเลือก เมื่อเรามองเด็กคือมนุษย์ที่มีคุณค่าคนหนึ่งสิ่งที่เราควรทำคือ ลดสิ่งเหล่านี้ นี่คือภาพวาดหน้าคนของเด็กชั้นอนุบาล 1 คนหนึ่งวาดได้อย่างภาพทางซ้ายมือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น