4 ต.ค. 2552

ปณิธานครู-ปณิธานแพทย์



โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 12 กันยายน 2552


การประชุมจิตวิวัฒน์ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๕๒ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้ผมเกิดความสุขอิ่มเอมและเกิดกำลังใจเกิดแรงบันดาล ใจเพิ่มขึ้นอย่างบอกไม่ถูก

คุณครูวิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ ผู้เขียนหนังสือที่ดีมากๆ ชื่อว่า โรงเรียนนอกกะลา เป็นผู้จุดชนวนความสุขและความหวังให้กับวงจิตวิวัฒน์ในวันนั้น ผ่านการแนะนำของคุณหมอสมชาย ธรรมสารโสภณ จากโรงพยาบาลกระสัง

ในระหว่างที่รอจะเข้าห้องประชุม ผมพลิกๆ อ่านดูหน้าแรกของหนังสือ โรงเรียนนอกกะลา เล่มนี้ พบข้อความที่จะทำให้คนอ่านต้องสะดุ้งและเกิดความสงสัยใคร่รู้ว่า เรื่องราวของโรงเรียนนี้เป็นอย่างไร และเป็นไปได้อย่างไร ครูวิเชียรเขียนไว้ว่า

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นโรงเรียนที่ไม่มีการสอบ เป็นโรงเรียนที่ไม่มีดาวให้ผู้เรียน เป็นโรงเรียนที่ไม่ต้องใช้แบบเรียน เป็นโรงเรียนที่ไม่มีการอบรมหน้าเสาธง เป็นโรงเรียนที่พ่อแม่ต้องมาเรียนรู้ร่วมกับลูก และเป็นโรงเรียนที่ทุกคนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข

ครูวิเชียรค่อยๆ บอกเล่าเรื่องราวมากมาย ว่าลำปลายมาศพัฒนาสามารถเป็นไปได้ตามที่ได้เขียนไว้อย่างไร

คุณครูเล่าได้ครอบคลุมทุกๆ ด้านของการศึกษาในความหมายของลำปลายมาศพัฒนา การเล่นและเรียนรู้ของเด็กในยามเช้าก่อนเข้าห้องเรียน ซึ่งครูวิเชียรถือว่ามีความสำคัญมากเหมือนกับเป็นการเตรียมพร้อมด้านร่างกาย ของเด็ก เมื่อเข้าห้องเรียนแล้ว จะมีวิธีการเตรียมเด็กให้พร้อมกับบทเรียนด้วยวิธีการต่างๆ เมื่อครูเห็นว่าเด็กพร้อมแล้วจึงจะเข้าสู่บทเรียนแบบสั้นๆ ใช้เวลาพูดไม่นานเกินไป จากนั้นก็กลับไปให้เด็กได้ทำกิจกรรมตามแผนการเรียนที่เด็กๆ ได้ช่วยกันวางเอาไว้ตั้งแต่แรก

การใช้เรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเรียนรู้ เป็นเรื่องเด่นอีกเรื่องหนึ่ง เช่น การบอกความรู้สึกกันตรงๆ ระหว่างครูกับนักเรียน หรือครูกับครู การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ที่บ้าน และชุมชน

การให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ผู้ปกครองทุกคนต้องมาสอนในโรงเรียนอย่างน้อยหนึ่งวิชา จะเป็นอะไรก็ได้

ผมนั่งฟังคุณครูวิเชียรเล่าด้วยความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ เรื่องราวทุกเรื่องล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนการ เรียนรู้สำหรับเด็ก ซึ่งเป็นไปในแนวเดียวกันและสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่องสมองและวิทยาศาสตร์ใน กระบวนทัศน์ใหม่ที่หลายคนในกลุ่มจิตวิวัฒน์กำลังดำเนินการอยู่ และกำลังค่อยๆ เผยตัวออกมามากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องหนึ่งที่สะดุดใจผมมากคือ “ปณิธานห้าข้อของครู” ที่คุณครูวิเชียรใช้สำหรับคุณครูทุกคนในโรงเรียน

คุณครูวิเชียรเล่าว่า การรับสมัครคุณครูใหม่ให้มาสอนที่โรงเรียนไม่ยากเลย เพราะมีคนมาสมัครเยอะมาก แต่เมื่อรับเข้ามาแล้วกว่าที่จะฝึกหัดให้คุณครูใหม่ “รู้สึกร่วม” กับ “ปณิธาน” ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนานั้นเป็นเรื่องยากที่สุด ต้องใช้เวลาอย่างน้อยเป็นปีขึ้นไป กว่าที่คุณครูใหม่จะดื่มด่ำกับการเรียนการสอนที่แปลกใหม่แบบนี้ คุณครูเลยมี “ปณิธานห้าข้อ” ไว้สำหรับคุณครูเพื่อที่จะเป็นแนวทางในการทำงานร่วมกัน

หนึ่ง ตอนเป็นเด็กต้องการอย่างไรก็ให้ปฏิบัติอย่างนั้นกับเด็ก

สอง รักเด็กทุกคน ให้เกียรติ หาข้อดีของเขาและสร้างเสริมส่วนนี้

สาม ไม่ปล่อยให้เด็กล้มเหลวแม้แต่คนเดียว

สี่ ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไป ถามตัวเองเสมอว่าทำให้ดีกว่านี้อีกได้หรือไม่

ห้า ถ้าทำไม่ได้ก็ให้ไปทำอาชีพอื่น

เพราะ “ปณิธานห้าข้อ” ของครูวิเชียร ทำให้ผมนึกได้ขึ้นมาทันทีว่า เป็นเรื่องเดียวกันในระบบสาธารณสุขได้เลย เพียงปรับคำพูดบางคำก็จะกลายเป็น “ปณิธานห้าข้อสำหรับแพทย์พยาบาล” ได้

ข้อที่หนึ่ง ผมเห็นว่าสามารถใช้ความรู้สึกข้อนี้ เป็นแนวทางหลักในการดูแลรักษาคนไข้ได้เป็นอย่างดี ตอนที่เราเป็นคนไข้ ต้องการให้แพทย์พยาบาลปฏิบัติกับเราอย่างไร ก็ให้ปฏิบัติแบบนั้นกับคนไข้

ข้อสอง เป็นหัวใจหลักของสุขภาพแบบองค์รวมเลยทีเดียว คือรักและให้เกียรติคนไข้ มุ่งพัฒนาและสร้างเสริมสุขภาวะของคนไข้มากกว่าที่จะมัวแต่รอรักษาโรค การจะเข้าถึงความลึกในระบบสุขภาพให้ได้นั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องให้ความสำคัญกับ “สุขภาวะกำเนิด” (Salutogenesis) ซึ่งเป็นศักยภาพที่มีอยู่แล้วในตัวคนไข้ด้วย ไม่ใช่สนใจแค่ “พยาธิกำเนิด” (Pathogenesis) หรือมุ่งรักษาโรคอย่างเดียว

ข้อสาม ถ้าแปลงเฉยๆ จะกลายเป็นเข้าใจผิดได้ง่าย เพราะคำว่า “ล้มเหลว” ในปณิธานของครูวิเชียรที่ใช้กับระบบการศึกษา อาจจะต้องปรับแต่งเล็กน้อยในระบบสุขภาพ เพราะความเข้าใจทั่วไปสำหรับสาธารณสุขคำว่าล้มเหลวหมายถึง “การเสียชีวิต”

ความหมายในข้อนี้จึงน่าจะหมายถึง ให้ศรัทธาในตัวคนไข้เสมอ ไม่ทอดทิ้งคนไข้แม้ว่าเขาจะดื้อดึงในเรื่องของสุขภาพของเขาสักแค่ไหนก็ตาม คนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน ต่างก็มีความคิดทัศนคติมีตัวตนเป็นของเขาเอง การจะเข้าใจคนไข้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายในบางบริบทและบางสถานการณ์ แต่ “ความระลึก” ถึงปณิธานข้อนี้พอจะช่วยเตือนให้เราสามารถรักคนไข้ได้ง่ายขึ้น

ข้อที่สี่ ผมชอบคำถามของคุณครูวิเชียรที่ให้ถามตัวเองว่า เราจะทำดีกว่านี้ได้อีกหรือไม่ ก็สามารถเป็นตัวช่วยให้ “ทะลุกรอบ” อะไรบางอย่างได้ นักเรียนของคุณครูวิเชียรหลายคนมีเรื่องราวที่บ้าน บางคนไม่มีพ่อ บางคนอยู่กับยาย มีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง ซึ่งทั้งหมดจะมีผลต่อครูและโรงเรียน เฉกเช่นเดียวกันกับคนไข้ที่มาโรงพยาบาล ปัญหาบางอย่างแพทย์และพยาบาลอาจจะไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก แต่ผมเชื่อว่า อย่างน้อยคำถามนี้อาจจะสามารถช่วยให้ “ใครบางคน” “ทำอะไรที่แตกต่าง” ได้

ห้า ถ้าทำไม่ได้ก็ให้ไปทำอาชีพอื่น

ในความเป็น “องค์รวม” นั้น เรื่องราวของส่วนหนึ่งเป็นภาพสะท้อนถึงเรื่องราวของส่วนอื่นๆ ในระบบ นั่นหมายความว่า “ปณิธานครูห้าข้อนี้” ยังสามารถปรับให้เป็น “ปณิธานของทุกๆ อาชีพ” ได้ เช่น “ปณิธานนักการเมือง” “ปณิธานนักธุรกิจ” “ปณิธานตำรวจทหาร” ฯลฯ

งานที่คุณครูวิเชียรทำไว้ที่ลำปลายมาศพัฒนา จึงสามารถเป็นตัวอย่างของชุดความเข้าใจที่สำคัญให้กับการพัฒนาในระบบอื่นๆ ทุกๆ ระบบได้เป็นอย่างดียิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น