28 ต.ค. 2552

เกาลี้...เกาหลี


ผู้เขียนเป็นคนชอบฟังเพลงมาแต่ไหนแต่ไรและติดตามข่าวคราวของวงการเพลงมาโดยตลอด สังเกตได้ว่ารูปแบบของการขายศิลปิน เอ๊ย! ไม่ใช่สิ ขายเพลง ส่วนใหญ่กลุ่มที่สนใจและขายได้คือ “วัยรุ่น” บริษัทเพลงจึงเพ่งเล็งมาที่กลุ่มวัยรุ่นเป็นสำคัญ ในยุคนั้นค่ายเพลงที่ดูมีอิทธิพลและมีความพร้อมที่จะประชาสัมพันธ์ให้ศิลปินเป็นที่รู้จัก ได้แก่ แกรมมี่ อาร์เอสโปรโมชั่น และคีตาร์ เร็คคอร์ด ศิลปินที่โด่งดังเป็นพลุแตก อาทิ เช่น ลิฟท์กับออย, ฝันดี ฝันเด่น, เจ เจตริน, ทาทา ยัง ฯลฯ และพักหลังบริษัทคีตาร์ เร็คคอร์ด ได้ปิดตัวลง เพราะการแข่งขันด้านเพลงเริ่มมีมากขึ้นและผู้แพ้ก็ต้องหลีกทาง


การแข่งขันในวงการเพลงยังคงดำเนินต่อไป ค่านิยมในการผลิตศิลปินวัยละอ่อน ผู้มีรูปร่างหน้าตาดี ร้องเพลงพอฟังได้ จับไปเข้าคอร์สบุคลิกภาพ ขัดเกลาด้านการร้องเพลง และฝึกเต้นอีกสักหน่อย ก็ยังคงขายได้ ช่วงกลางๆ แกรมมี่กับอาร์เอส ยังคงครองตลาดวัยรุ่น และไม่ทิ้งห่างกันสักเท่าไหร่ มีการฉลองล้านตลับของศิลปินวัยรุ่นอยู่เกลื่อนค่าย ผิดกับตลาดเพลงฟัง ที่คัดเฉพาะศิลปินเสียงดี หน้าตาธรรมดา แต่คุณภาพเสียงคับแก้ว โดยเฉพาะค่ายเพลงฝั่งอโศกดูจะทิ้งห่างค่ายเพลงฝั่งลาดพร้าวอยู่หลายช่วงตัว อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ได้กำไรมากที่สุดก็คือคนฟังนั่นเอง


ในยุคหลังๆ วงการเพลงเริ่มมีสีสันใหม่ๆมากขึ้น มีการทำเพลงจากค่ายเพลงอิสระ และค่ายเพลงเล็กๆที่เรียกกันว่า “เพลงใต้ดิน” หรือ “เพลงอินดี้ ”ซึ่งไม่มีการโปรโมท และไม่ได้เน้นรูปร่างหน้าตาของนักร้องมากมายนัก แต่เป็นการขายเพลงจริงๆ กลุ่มวัยรุ่นคงเริ่มเอียนกับกระแสนิยมนักร้องวัยรุ่นที่ขายหน้าตาและร้องเพลงพอฟังได้ และค่ายเพลงอินดี้ยุคบุกเบิกที่มีอิทธิพลต่อวงการเพลงในยุคหลังๆ คือ “เบเกอรี่มิวสิค” ศิลปินที่โด่งดังตั้งแต่เปิดตัวด้วยความแปลกใหม่และเนื้อหาในเพลงให้อะไรมากกว่าเพลงสะท้อนความรักประโลมโลก คือ “โมเดิร์นดอก” และยังคงเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน


สำหรับในยุคนี้สิ่งที่จะต้องกล่าวถึงและเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญเลยก็ว่าได้ นั่นคือ ความนิยมที่วัยรุ่นไทยมีต่อศิลปินชาวเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เกาหลี เพลงเกาหลี นักร้องเกาหลี ภาษาเกาหลี ฯลฯ บัตรคอนเสิร์ตที่แพงหูฉี่เท่ากับรายได้ทั้งเดือนของใครบางคน แต่วัยรุ่นไทยกลับไม่คิดเสียดาย แถมยังต้องเบียดเสียดยัดเยียดต่อคิวซื้อ บางรายตื่นมาตั้งแต่ตี2 ตี 3 เพราะกลัวซื้อบัตรไม่ทัน และปัจจุบันนักร้องวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปินเกาหลี ทั้งรูปร่างหน้าตา การแต่งกาย ล้วนถูกกลืนไปด้วยกระแสความนิยมจากเกาหลีแทบทั้งสิ้น จนแยกไม่ออกว่าอันไหนคือคนไทยอันไหนคือเกาหลี


การผลิตศิลปินที่ประเทศเกาหลี มีฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง จัดว่าเป็นอุตสาหกรรมของประเทศเลยก็ว่าได้ ค่ายเพลงมีกฎการผลิตศิลปินที่เด็ดขาด และฝึกอย่างหนัก ศิลปินต้องสมบูรณ์แบบทั้งหน้าตาและความสามารถ ดังนั้นศิลปินดาราเกาหลี 90 % จึงต้องทำศัลยกรรม รวมทั้งมีการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นศิลปิน อย่างแยบคายโดยคัดเลือกจากหลายๆประเทศ ถ้าในแถบเอเชียก็มี เกาหลี จีน ญี่ปุ่น และไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างฐานความนิยมจากทุกประเทศในแถบเอเชียนั่นเอง การสร้างศิลปินได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากรัฐบาลเกาหลี และมีแนวโน้มว่าจะผลิตเพลงไปยังตลาดโลก ขณะนี้เพลงเกาหลีมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 1 % คิดเป็นอันดับที่ 19 ของโลก และมีผลกำไรในปี 2551 รวมทั้งสิ้น 8.44 ล้านวอน หรือ ประมาณ 21,100 ล้านบาท

หากพิจารณาจากความสำเร็จของศิลปินชาวเกาหลี ย่อมเป็นที่น่าชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง แต่ในทางกลับกันข่าวคราวที่มีศิลปินดาราเกาหลีฆ่าตัวตายอยู่เป็นระยะน่าจะสะท้อนอะไรบางอย่าง กระแสของโลกเชื่อถือได้แค่ไหน ท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างคะ?

1 ความคิดเห็น:

  1. ธรรมดา ทุกอย่างมีเกิด ก็ต้องมีดับ .....วิถีชนบทนี่แหละครับที่งดงามใส ๆ ตลอดกาล

    ตอบลบ